ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ในหนังฮอลลีวูด

ศิลปะ-บันเทิง
15 เม.ย. 58
16:06
619
Logo Thai PBS
ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ในหนังฮอลลีวูด

เทคนิคการสร้างที่ล้ำยุค ทำให้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดสร้างภาพที่ตื่นตามากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปรากฏการณ์ในหนังหลายเรื่องได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าเกิดขึ้นได้จริง แต่มีไม่น้อยที่เป็นการสร้างเพื่อความบันเทิง โดยไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

แม้เป็นฉากที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้จริง แต่การขับรถทะลุตึกระฟ้าสองหลังใน Furious 7 ได้รับการยืนยันจากนักพิสิกซ์ชั้นนำว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งการจะทำให้รถน้ำหนักตันครึ่งวิ่งไปหาตึกฝั่งตรงข้ามซึ่งห่างออกไปประมาณ 50 เมตร รถคันดังกล่าวต้องใช้พื้นที่ประมาณ 90 เมตร ในการทำความเร็ว 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อจะข้ามไปยังตึกอีกฝั่งหนึ่งโดยหล่นลงมาเพียง 4 ชั้น ซึ่งรถในหนังซึ่งมีอัตราเร่งที่ 0 -96 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาต่ำกว่า 3 วินาที มีศักยภาพพอที่จะวิ่งข้ามตึกเหมือนที่เห็นในหนัง

อีกทั้งหนึ่งในตัวละครที่สร้างความฉงนให้กับแฟนซีรีส์ Game of Thrones มากที่สุดอย่าง โฮดอร์ ชายร่างใหญ่ที่พูดได้เพียงคำเดียวตลอดทั้งเรื่อง แท้จริงแล้วเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากอาการผิดปกติทางการพูด หรือ expressive aphasia ซึ่งมีสาเหตุจากการกระทบกระเทือนทางสมอง โดยผู้ป่วยจะยังเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร แต่ไม่สามารถพูดสิ่งที่ตนต้องการได้

หนังบางเรื่องนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือและขัดแย้งจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ในเวลาเดียวกัน เช่น Interstellar หนังไซไฟที่ได้รับการยกย่องเรื่องการถ่ายทอดข้อมูลที่หักล้างความเชื่อเดิมๆ ทั้งภาพหลุมดำที่ไม่ได้มีแต่ความมืด แต่ส่องสว่างด้วยแสงที่โค้งงอจากแรงดึงดูดของหลุมดำ เช่นเดียวกับภาพ รูหนอน ถูกนำเสนอในรูปทรงกลม 3 มิติ แทนที่จะเป็นหลุมเหมือนในอดีต แต่ฉากที่ถ่ายทอดให้เมฆน้ำแข็งลอยอยู่บนท้องฟ้า หรือการส่งคนเข้าไปสำรวจหลุมดำ ถือเป็นฉากที่ขัดแย้งจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

หลายปีมาแล้วที่ฮอลลีวูดสร้างฉากหนังที่ตื่นตา บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่บิดเบือน ขณะที่ The Day After Tomorrow ได้รับคำชมเรื่องการนำเสนอปัญหาสภาวะแวดล้อม แต่การที่โลกจะเผชิญกับยุคน้ำแข็งอีกครั้งถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การจะระเบิดอุกกาบาตขนาดเท่ารัฐเท็กซัสอย่างใน Armageddon จำเป็นต้องใช้ระเบิดไฮโดรเจนที่มีกำลังมากกว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึงพันล้านเท่า ส่วนการเอาตัวรอดจากระเบิดปรมาณูด้วยการหลบในตู้เย็นอย่างใน Indiana Jones ภาค 4 ถือเป็นเรื่องเพ้อฝัน เนื่องจากวัตถุในรัศมีการระเบิดจะระเหิดในเวลาอันรวดเร็ว

ทั้งนี้ปี 2011 องค์การนาซ่าได้ทำรายชื่อหนังที่ถ่ายทอดเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่สมจริงและไม่สมจริงที่สุด โดยหนังที่ได้รับการยกย่องจากนาซ่าที่สุดได้แก่ Gattaca ภาพยนตร์ที่เล่าถึงการต่อสู้ของมนุษย์ในโลกอนาคตที่สังคมถูกแบ่งแยกตามคุณลักษณะทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ Contact ที่เล่าถึงหลักการการใช้รูหนอนในการเดินทางข้ามดาวเคราะห์และแนวคิดเรื่องการใช้คลื่นความถี่สื่อสารกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก ส่วนหนังที่มีเนื้อหาบิดเบือนมากที่สุดได้แก่ 2012 ที่เล่าถึงการเคลื่อนตัวอย่างรุนแรงของแผ่นทวีป หลังแกนโลกเกิดความร้อนอย่างรวดเร็วเพราะทำปฎิกริยากับอนุภาคนิวตริโนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งความจริงแล้วนิวตริโนเป็นอนุภาคไม่ทำปฎิกริยากับสสารหรือต่อร่างกายมนุษย์ ขณะที่ฉากสึนามิยักษ์กลางทะเล ก็ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเนื่องจากคลื่นจะก่อตัวเมื่อน้ำกระทบกันฝั่งเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง