อ่างมรสวบแตก เหตุดินฐานรากแปรปรวน-น้ำเซาะจนเกิดโพรง

ภัยพิบัติ
16 ส.ค. 62
17:54
1,442
Logo Thai PBS
อ่างมรสวบแตก เหตุดินฐานรากแปรปรวน-น้ำเซาะจนเกิดโพรง
ผู้เชี่ยวชาญเขื่อน สรุปเหตุอ่างมรสวบแตก มาจากดินใต้ฐานรากอ่างแปรปรวนสูง ทำให้น้ำเซาะเกิดโพรงได้ง่าย ดินที่ใช้ทำอ่างเป็นดินเหนียวปนทราย แนะเทน้ำปูนทำฐานเป็นแนวทึบน้ำ ด้านทรัพยากน้ำภาค 7 รอซ่อมหลังหมดฤดูฝน เหตุน้ำในอ่างและฤดูฝนเป็นอุปสรรค

วันนี้ (16 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อน นำโดย รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพการวิบัติของอ่างเก็บน้ำ ตามที่กรมทรัพยากรน้ำ ภาค 7 แจ้งให้มาตรวจสอบ

การตรวจสอบใช้เวลานานกว่าครึ่งวัน เพื่อตรวจสอบดูลักษณะการวิบัติ ประเมินสาเหตุ เพื่อศึกษาข้อมูลจะต้องแก้ไขซ่อมแซมอย่างไร ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นได้รับทราบข้อมูลก่อนลงพื้นที่วันนี้แล้ว พบว่า ลักษณะฐานรากของอ่างเก็บน้ำมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง บางส่วนมีสภาพเป็นดินเหนียวทึบน้ำจริง บางส่วนมีทรายมีกรวดแทรก แต่การเกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเหตุน้ำล้นเขื่อน แต่เกิดเป็นโพรงข้างล่าง

 

 

การลงพื้นที่พบว่าตัวฐานรากของอ่างเก็บน้ำ มีประเด็นให้ต้องตรวจสอบ ขณะเดียวกันสงสัยว่า ตัวอ่างเก็บน้ำมีโอกาสที่จะรั่วหรือไม่ ซึ่งช่วงที่เคยลงพื้นที่หลังอ่างเก็บน้ำมีปัญหาช่วงแรก ทางทีมงานได้กำหนดจุด เพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่น้ำเข้าและน้ำออก รวมทั้งรอยแตกต่าง ๆ ส่วนการลงพื้นที่วันนี้ จะมีอีก 1 ทีมลงมาเพื่อทำภาพ 3 มิติ โดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) บินสำรวจดูลักษณะของรูปร่าง เพื่อให้เห็นมิติของรอยแตกส่วนที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพื่อให้คำแนะนำทางสำนักทรัพยากรน้ำภาค 7 และสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ส่วนการแก้ไขนั้นไม่ได้มีความซับซ้อน หากรั่วที่ฐานรากจะต้องมีการอัดฉีดน้ำปูน (Grout) เพื่อให้เกิดความหนาขึ้น จึงต้องเสริมวิธีนี้เพื่อความปลอดภัยตามหลักวิชาการ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำจะต้องเป็นผู้พิจารณางบประมาณและแผนงานที่จะดำเนินการ

ส่วนกรณีน้ำที่ยังไหลออกจากอ่างเก็บน้ำลักษณะนี้เรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องเร่งซ่อม เพราะหากดำเนินการซ่อมแซมทันทีจะทำให้กการบริหารจัดการงานซ่อมเป็นไปด้วยความยาก เพราะน้ำจะไหลเข้ามาเรื่อย ๆ หากจะต้องทำจริงๆ ต้องปิดด้านหน้าพื้นที่ที่จะซ่อมฐานอ่างเก็บน้ำ พร้อมแนะนำให้ซ่อมแซมในช่วงหน้าแล้ง และใช้ช่วงนี้ออกแบบว่าจะแก้งานอย่างไร

 

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

 

รศ.สุทธิศักดิ์ ยังเสนอข้อแนะนำในอนาคต หากซ่อมแซมก่อสร้างตามแบบที่แก้ไขไปแล้ว อาจมีการติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมของตัวอ่างเก็บน้ำมรสวบ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของตัวอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะแรงดันน้ำใต้ฐานรากว่าเป็นอย่างไร รวมถึงทั้งบริเวณก่อนและหลังแนวอัดฉีดการเทน้ำปูนที่ทำเป็นแนวทึบน้ำ หากมีการติดตามพฤติกรรมของตัวอ่างเก็บน้ำได้ ในอนาคตกรมทรัพยากรน้ำจะมีข้อมูลไว้ชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ว่ามีระดับความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ซึ่งในประเทศไทยจะมีวิธีการติดตั้งสำหรับเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำใหญ่ ๆ แต่สำหรับอ่างเก็บน้ำมรสวบ แม้ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำใหญ่ แต่ก็จำเป็นต้องติดตั้งเพราะเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้ว 3 ครั้ง

สำหรับการติดตั้อุปกรณ์ตรวจจับพฤติกรรมอ่างเก็บน้ำ ยังสามารถเชื่อมข้อมูลไปสู่ระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจที่จะเตือนภัยกับชาวบ้านได้ด้วย รวมถึงการส่งข้อมูลเพื่อส่งถึงชาวบ้านที่อยู่ใต้พื้นที่ท้ายน้ำ และประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการและท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุเสี่ยงภัย ซึ่งมีมาตรการซักซ้อมการเตือนภัย

 

เวสารัช โสภณดิเรกรัตน์

เวสารัช โสภณดิเรกรัตน์

เวสารัช โสภณดิเรกรัตน์

 

 

ด้านนายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 ซึ่งลงพื้นที่มาพร้อมทีมวิศวกร ระบุว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กำชับให้ทีมทรัพยากรน้ำภาค 7 ลงพื้นที่เพื่อติดตามว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งการลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์จนกระทั่งวันนี้ พบว่า ระดับน้ำลดลง จนสามารถวัดระดับน้ำได้เป็นครั้งแรก ความลึกอยู่ประมาณ 4 เมตร จากช่วงก่อนเกิดเหตุมีความลึกประมาณ 10 เมตร หรือสามารถระบายน้ำออกจากอ่างไปแล้วกว่า 1,200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

 


การลงพื้นที่วันนี้ได้ประสานขอให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนลงมาตรวจสอบอ่างเก็บน้ำมรสวบและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่จะต้องดำเนินการร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ อาจต้องปรับปรุงฐานรากของอ่างเก็บน้ำ และสำรวจสภาพความเสียหายของตัวแกนอ่างเก็บน้ำเพื่อเตรียมบดอัด ส่วนงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการนั้น จะรอให้เสร็จขั้นตอนการประเมินงานที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก่อนเสนอขอพิจารณาอนุมัติได้

 

 

สำหรับช่วงเวลาการเข้าซ่อมแซม ต้องรอให้หมดฤดูฝนก่อน เพราะกระทบต่องานบดอัดหน้าดิน อาจต้องรอไปถึงช่วงเดือนมกราคม 2563 แต่สถานการณ์ช่วงระหว่างนี้ กรมทรัพยากรน้ำไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะอยู่ในช่วงสำรวจความเสียหาย รวมถึงการเตรียมออกแบบเพื่อให้อ่างเก็บน้ำเกิดความแข็งแรงมากขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง