"มาเรียม" จุดกระแสศิลปินสร้างงานศิลปะเพื่อการอนุรักษ์

Logo Thai PBS
"มาเรียม" จุดกระแสศิลปินสร้างงานศิลปะเพื่อการอนุรักษ์
เปิดใจช่างภาพสารคดี ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย เจ้าของผลงานภาพถ่ายมาเรียมที่ทำให้คนรู้จัก

ความน่ารักของ "มาเรียม" ทำให้พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบงกลายเป็นขวัญใจในโลกโซเชียล จุดกระแสความสนใจต่อสถานการณ์การรอดชีวิตของพะยูน หากเมื่อ "มาเรียม" จากไปด้วยเหตุผลสำคัญจากขยะพลาสติก ทำให้ช่างภาพที่ใช้เวลาคลุกคลี ถ่ายภาพไวรัลมาเรียมจนโด่งดังระดับนานาชาติ "ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย" มีมุมมองต่อการรณรงค์เรื่องขยะในทะเล และหวังให้กรณีมาเรียมเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

ขอชีวิต “มาเรียม” ไม่สูญเปล่า

หวังว่าการตายของมาเรียมไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นเสียงเรียกให้เราออกมาเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง

“ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย” เป็นอดีตนักวิจัยทางทะเล ที่ทำงานเป็นช่างภาพสารคดี ถ่ายภาพท้องทะเลมานานถึง 7 ปี เขาถือได้ว่าเป็นช่างภาพคนหนึ่งที่มีโอกาสใกล้ชิด “มาเรียม” ที่สุด เพราะอาสา “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ไปทำหน้าที่บันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ตั้งแต่รู้ข่าวมาเรียมช่วงแรกๆ จนได้ภาพไวรัล “มาเรียมในอ้อมกอดเจ้าหน้าที่” ซึ่งเป็นภาพดังระดับนานาชาติ ติดอันดับ The 20 photographs of the week ของ The Guardian มาแล้ว

คุณชินบอกว่า ภาพที่เคยถ่ายสมัยก่อนมีแต่ผลงานหนักๆ สื่อสารตรงๆ ถึงสัตว์ที่ต้องตายจากการคุกคามของมนุษย์ แต่เมื่อได้มาถ่ายภาพมาเรียมก็ปรับโหมดเน้นความน่ารัก เพราะอยากให้สื่อถึง "ความหวังในการอนุรักษ์"

นอกจากนี้ มาเรียมยังต่างไปจากพะยูนอื่นๆ เพราะจากประสบการณ์ช่างภาพสารคดีอาชีพ ทำให้คุณชินรู้ว่าพะยูนขี้กลัว ถ่ายภาพได้ยากมาก แต่มาเรียมกลับไม่ตื่นคน เพราะกำพร้าแม่ ต้องปรับตัวให้คุ้นกับคนเพื่อให้มีชีวิตรอด นี่สะท้อนว่าพะยูนต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และเมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต ที่มาเรียมต้องตายไปพร้อมเศษขยะพลาสติกอุดตันลำไส้ นี่ยิ่งบอกชัดว่า ข้อมูลเรื่องทะเลไทยติดอันดับขยะล้นระดับโลกไม่ใช่เรื่องเกินจริง และมาจากฝีมือมนุษย์ล้วนๆ
ในฐานะช่างภาพสารคดี เรื่องราวของมาเรียมจึงเป็นทั้งบทเรียนและแรงผลักดัน ให้อยากใช้งานศิลปะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อม

การถ่ายภาพอนุรักษ์ คือเราต้องเล่าเรื่องของความสวยงามที่คนหลายคนที่ไม่ได้เห็น ให้เค้าได้เห็น ให้เค้าหลงรัก แต่เราต้องเล่าเรื่องปัญหาของมันด้วยว่าอะไรเกิดขึ้นอยู่ แล้วภาพพวกนี้มันทำให้คนสนใจ แล้วสามารถทำให้ถึงจุดเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือเปล่า
ภาพถ่ายมาเรียมของ ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ภาพถ่ายมาเรียมของ ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ภาพถ่ายมาเรียมของ ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย


มันไม่ใช่แค่ว่า ภาพออกไป คนสนใจ แล้วก็จบมานั่งรู้สึกภูมิใจ ไม่ใช่ เราต้องออกไปหาเรื่องอื่นต่อ ทำให้คนสนใจต่อ มันมีเรื่องอีกมากมายที่คนต้องรับรู้
ภาพจาก FACEBOOK ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ขณะกำลังถ่ายภาพซากวาฬ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

ภาพจาก FACEBOOK ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ขณะกำลังถ่ายภาพซากวาฬ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

ภาพจาก FACEBOOK ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ขณะกำลังถ่ายภาพซากวาฬ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่


ต้นตอของขยะในทะเลไทย

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก มากถึง 1 ล้านตันต่อปี โดยขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม เป็นต้น รองมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น แต่ขยะในทะเลก็ไม่ได้เกิดจากการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคล ครัวเรือน อุตสาหกรรม ขยะเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำต่างๆ จากลำคลอง สู่แม่น้ำ ท้ายที่สุดก็ลงสู่ท้องทะเล สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเรายังขาดการจัดการขยะอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ภาพมาเรียมผลงาน “ชิน ศิรชัย” ที่ติดอันดับ The 20 photographs of the week ของ The Guardian
https://www.theguardian.com/artanddesign/gallery/2019/jul/06/the-20-photographs-of-the-week?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR0oAdyuo3BQuKHr2ODStG6XoMPJgFJ2h4vv_7yiGVv7mqTTMgRZ1TtLzmA

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง