ฟื้นฝ้ายตุ่ย คืนถิ่น สู่วิถีผ้าทอ “ลายน้ำเลย” หนึ่งเดียวภูหลวง

ไลฟ์สไตล์
18 ส.ค. 62
15:55
3,922
Logo Thai PBS
ฟื้นฝ้ายตุ่ย คืนถิ่น สู่วิถีผ้าทอ “ลายน้ำเลย” หนึ่งเดียวภูหลวง
เปิดใจ “ศิรินญา ทองแบบ” ผู้ปลุกชีพชุมชนบ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ให้กลับมาปลูกฝ้ายตุ่ย และ เริ่มกลับมารักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทอผ้าฝ้ายภายใต้ชื่อ”ขุนน้ำเลย” จน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและเตรียมจดคุ้มครองต้นฝ้ายโบราณ และลายผ้าน้ำเลย
“การทอฝ้าย มันหายไปนาน เมื่อก่อนฝ้ายตุ่ย เป็นฝ้ายพันธุ์โบราณพื้นเพของเลย อากาศที่นี่จะหนาวมาก ผู้หญิงที่อายุ 13-14 ปีทุกคน ต้องเริ่มเข็นฝ้าย ทอผ้าเป็นแล้ว แต่วิถีเราหายไปนานมาก”

ศิรินญา ทองแบบ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายขุนเลย บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ย้อนถึงวัยเด็กที่เคยผูกพันกับฝ้ายตุ่ยที่ห่างหายไปเกือบ 50 ปี กระทั่งกลับสู่บ้านเกิดอีกครั้งในช่วงฟองสบู่แตกทำให้ต้องออกจากงานโรงงานทอผ้า

ศิรินญา เล่าว่า เมื่อกลับมาที่บ้านศรีเจริญ ได้ไปเห็นชุมชนแห่งอื่นที่ทอผ้าฝ้ายกัน พอเห็นเขาทอแล้ว คิดว่าตัวเราก็มีฝีมือ และอยากสร้างรายได้ให้ชุมชน จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน จนทำให้ภูมิปัญญาวิถีไทเลยกลับมาอีกครั้ง

โดยเฉพาะฝ้ายตุ่ย หรือ ฝ้ายกระตุ่ย เป็นฝ้ายพันธุ์พื้นบ้านที่ให้สีน้ำตาลอ่อนโดยธรรมชาติ มีความนุ่มกว่า ดอกจะใหญ่เดิมทุกบ้านจะปลูกไว้วิถีเดิมเมืองเลยหนาวมาก ทุกคนต้องมีต้นฝ้าย เพื่อเอามาทำผ้าห่ม ผ้านวม และใช้ในชีวิตประจำวัน

ฝ้ายตุ่ยจะนุ่มกว่า จะดอกใหญ่  สีเข้มกว่า และเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่เก็บปลูกปีต่อปี มาสืบทอดมาแต่ปู่ย่าตายายไม่สูญหาย ผู้เฒ่าผู้แก่ต้องปลูกไว้ เพราะต้องใช้ฝ้ายผูกแขนเป็นวิถีของไทเลย ต้องมีตั้งแต่เกิดจนตาย และวิถีฝ้ายผูกพันกันมา

พลิกฟื้นพันธุ์ฝ้ายโบราณสู่งานทอ

จุดเริ่มต้นในวันนั้น ทำให้ปี 2561 ศิรินญา กลับมารวบรวมความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนบ้านศรีเจริญ ที่ยังปลูกฝ้ายตุ่ย และมีความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า มีกี่ผ้าโบราณในบ้านได้เกือบ 20 คน หลังจากวิถีเหล่านี้เริ่มลางเลือนไปเกือบ 50 ปี

ศิรินญา เล่าอีกว่า ไม่เพียงแค่การส่งเสริมให้กลุ่มปลูกฝ้ายตุ่ยไม่ให้สูญพันธุ์ แต่ยังการมองหาสีธรรมชาติที่ได้จากใบไม้ พืช ในท้องถิ่นของตัวเอง เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างป่าสงวนแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง พื้นต้นน้ำเลย ทำให้มีความหลากหลายของฐานทรัพยากรชีวภาพเป็นนำมาใช้เป็นต้นทุน

 

พอเริ่มกลับมาทอผ้า เราทำมือทั้งหมด ไม่มีเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง เริ่มตั้งแต่เอาเส้นใยฝ้ายออกจากเม็ด  ดีดปุย ตีเข็นเส้นด้าย และย้อมสีก็ไม่ใช้เคมี มีเพียง ฝปูนกินหมาก สารส้ม จึงไม่มีอันตราย

จะถามผู้เฒ่าผู้แก่ต้นไม้ ใบไม้ หรือพืชชนิดไหนว่าสีอะไรได้บ้าง ลองผิดลองถูกกันมา พอพัฒนาสีต่างๆ จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทำมา จนได้หลากหลายสี เช่น สีน้ำตาลอ่อน สีเหลือง สีม่วงจากเปลือกไม้ แต่ก็ไม่เน้นฉูดฉาด เพราะคุณสมบัติของฝ้ายตุ่ย คือจะต้องเป็นสีโทนน้ำตาล และผ้ายิ่งซักยิ่งนิ่ม

ภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์ชื่อ ”ขุนน้ำเลย”

วันนี้ผ้าฝ้ายตุ่ยของชุมชนบ้านศรีเจริญ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อทั้งในรูปแบบทอเป็นผืน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งเสื้อ ผ้าพันคอ หมวก และผ้าเป็นผืน ภายใต้ชื่อ ขุนน้ำเลย สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี มีการจัดการรายได้เข้าชุมชนโดยการหักเงินเข้ากลุ่ม 20 บาทต่อ 100 บาท และแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายคต่างๆ ส่วนอีก 10 บาทจะเป็นค่าขนส่งให้ลูกค้า โดยผู้สูงอายุที่มารับจ้างเข็นฝ้ายจะได้กิโลกรัมละ 200 บาท

ตรงกับคำบอกเล่ายายบน สินสีหา ชาวบ้านศรีเจริญในวัย 64 ปี ที่บอกว่าฝ้ายตุ่ย และการทอผ้าหายมันหายไปนาน เพราะคนไม่อยากทำแล้ว เพราะขั้นตอนยุ่งยากและฝ้ายตุ่ยเองไม่มีมูลค่าอะไร แต่หลังจากมีโครงการนี้มา คนแก่เริ่มเห็นความสำคัญ ถ่ายทอดงานที่แต่ละคนถนัด และทำเป็นมารวมกันทำงาน ช่วยกันรักษาภูมิปัญญาไม่ให้หายไปอีก

เฮ็ดเองหมด ไปเก็บดอกมาทำ ที่บ้านปลูก 2 ไร่ แต่ละต้นดกมาก ถ้ามีดอกแล้วใบจะหล่น สมัยก่อนเอาแค่ใช้งานไม่มีมูลค่าเลยไม่เฮ็ดกัน ตอนนี้พอเห็นแล้วปลูกเองเก็บเอง ทอเอง ทำเข็นด้ายให้เป็นเส้นกิโลกรัมละ 200 บาท

 

ศิรินญา บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ฝ้ายตุ่ย กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความภูมิใจให้กับคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่เริ่มอบอุ่น ลูกหลานกลับไปถามภูมิปัญญาก็เล่าให้ฟังหมด ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ตัวเองอยากให้ภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายสืบทอดอยู่ เหมือนกับคำขวัญว่าเมืองดอกฝ้ายบาน อยากให้ดอกฝ้ายของเรายังอยู่คู่กับเมืองวิถีไทเลย  

ดีใจที่สุดคือเมื่อเดือน ก.ค.ได้มีโอกาสทอผ้าฝ้ายตุ่ย ถวายถุงย่าม และเสื้อให้กับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นอกจากนี้ ยังเตรียมยื่นเรื่องกระทรวงพาณิชย์ขึ้นทะเบียนคุ้มครองต้นฝ้ายตุ่ย ที่เป็นฝ้ายพันธุ์พื้นเมือง และขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) การออกแบบลายผ้า "ลายน้ำเลย" ที่เป็นลายฝ้ายทอมือแห่งแรก ของชุมชนบ้านศรีเจริญ ที่เพิ่งคิดค้นลายใหม่ขึ้นมาสำเร็จ โดยมีสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (เบโด้) ช่วยต่อยอดความรู้ ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และจัดการตลาดแบบยั่งยืนรูปแบบรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นต้นทุนของผลผลิตเหล่านี้

เบโด้ หนุนพื้นที่นำร่องสินค้า IG

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (เบโด้) บอกว่าจากการลงพื้นที่ชุมชนบ้านศรีเจริญ ต.เลย์วังไสย์ จะเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ที่ต้องการเป็นพื้นที่นำร่อง ณ ถิ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการพัฒนาและเรียนรู้ และนำมาพัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่ทำให้พี่น้องมีรายได้

จุดเด่นที่เบโด้เข้ามาที่นี่เพราะเห็นศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชน เห็นฐานทรัพยากรที่มีหลากหลายในชุมชน ทั้งในอาหาร ในวิถีชีวิตเรานำเรื่องราวเหล่านี้ที่ฟื้นคืนกลับมา

นอกจากนี้ยังนำนวัตกรรมความรู้มาสร้างให้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานตามที่ผู้บริโภคต้องการ และสุดท้าย หาช่องทางการตลาดและสร้างความคุ้มครองในสิ่งที่พี่น้องคิดมาเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไม่ถูกนำใช้หรือหาประโยชน์จากผู้ประกอบการโดยไม่มีการแบ่งปัน 

 

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผอ.เบโด้

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผอ.เบโด้

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผอ.เบโด้

 

กลไกที่เบโด้ นำมาใช้ คือสำรวจเรียนรู้เพื่อให้รู้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นทุนวัตถุดิบ นำกระบวนการผลิตที่พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ เมื่อมีรายได้ต้องปันกลับไปสู่ฐานทรัพยากร  จากนั้นจะจดความคุ้มครองเพื่อรักษาความลับทางการค้าของชุมชน เป็นอีกมติที่จะบันทึกไว้หากใครนำไปใช้ประโยชน์

ถ้ามีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะสร้างเอกลักษณ์ของชุมชน ถ้าทุกชุมชนมีแบบนี้จะแข็งแกร่งอย่างบ้านศรีเจริญมีฝ้ายตุ่ย และข้าวเหนียวแดงเมืองเลย ที่กำลังจะมีการยื่นจดการคุ้มครอง ดังนั้นจึงให้ทบทวนในทุกตำบลว่าหาว่าชุมชนของตัวเองมีอะไรที่โดดเด่น

ปัจจุบันบ้านศรีเจริญ ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ใช้ "ท่องเที่ยวชีวภาพ" เป็นช่องทางการตลาดเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นรู้จักทยอยเข้าเที่ยวชมหมู่บ้านต่อเนื่อง โดยชุมชนรู้สึกภาคภูมิใจดูแลปกปักรักษาทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นของตนเอง ที่สำคัญยังสร้างรายได้จากกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกล และผลผลิตในชุมชนสามารถสร้างรายได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง