"ยูทูปเบอร์" เสี่ยงแค่ไหน กับคอนเทนต์ดราม่าเรียกยอดวิว?

สังคม
18 ส.ค. 62
15:13
9,762
Logo Thai PBS
"ยูทูปเบอร์" เสี่ยงแค่ไหน กับคอนเทนต์ดราม่าเรียกยอดวิว?
"ยูทูปเบอร์" กลายเป็นอาชีพหลักของใครหลายคนในยุค 2019 จนทำให้การทำคอนเทนต์มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ การสร้างคอนเทนต์ดราม่าจึงอาจเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งเพื่อเรียกให้คนมาเพิ่มยอดวิวและเพิ่มรายได้ เมื่อคุณภาพเนื้อหาเปลี่ยนไปยูทูปเบอร์ต้องแลกกับอะไรบ้าง?

อย่าลืมกดสับตะไคร้ กดไลก์ กดแชร์ แล้วก็กดกระดิ่งเพื่อติดตามคลิปใหม่ล่าสุดได้ก่อนใคร

ประโยคนี้อาจจะคุ้นหูใครหลายๆ คน ที่ติดตามยูทูปเบอร์ผ่านช่องทางยูทูปอยู่เสมอ เพราะอะไร ทำไมยูทูปเบอร์ถึงต้องการให้คนเข้าไปดูคลิปเขามากขนาดนั้น หลายๆ คนคงมีคำตอบในใจว่าสิ่งนั้นคือ "ยอดวิว" สำหรับผู้ที่ทำอาชีพยูทูปเบอร์แล้ว ยอดวิวถือเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้แต่ละเดือน

  • ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานกว่า 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก 
  • ทุกๆ วัน มีผู้คนเข้าดู YouTube มากกว่าพันล้านชั่วโมงและมีการดูนับพันล้านครั้ง 
  • จำนวนช่องที่ทำรายได้ 6 หลักต่อปี บนยูทูปเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40
  • จำนวนช่องที่ทำรายได้ 5 หลักต่อปี บนยูทูปเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50
  • จำนวนช่องที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 75 

เมื่อมียูทูปเบอร์เพิ่มขึ้น เห็นรายได้ชัดเจน การแข่งขันก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน กลยุทธ์ต่างๆ จึงถูกสรรหามาเพื่อดึงผู้คนในประชาคมออนไลน์แห่งนี้ให้เข้ามารับชมคลิป เพื่อสร้างรายได้ โดยหลายครั้งยูทูปเบอร์บางคนอาจต้องยอมเสี่ยงเน้นการสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ตรงใจคน แต่อาจไม่ตรงตามหลักเกณฑ์หรือกฎหมาย รวมไปถึงอาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นได้ เพื่อเรียกยอดวิว 

#ยทป สร้างคอนเทนต์หวังยอดวิวแต่สปอร์นเซอร์หาย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเกี่ยวกับยูทูปเบอร์ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก ทั้งกรณียูทูปเบอร์คู่รักดารา "ทดสอบความอดทนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน" ที่ได้เรียกพนักงานฯ หลายครั้งจนอาจกระทบต่อการปฏิบัติงานของพนักงานฯ และเป็นการละเมิดกฎสายการบินเกี่ยวกับการบันทึกภาพของลูกเรือขณะปฏิบัติหน้าที่ 

อย่างไรก็ตามการสร้างคอนเทนต์ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หรือกระแสดราม่าที่อาจถูกมองในแง่ลบ แต่ก็สามารถเพิ่มยอดวิวให้กับคลิปนั้นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งยอดวิวนั้นนับเป็นรายได้หลักของเหล่ายูทูปเบอร์ โดยหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมยอดวิวเท่ากัน แต่รายได้ของยูทูปเบอร์แต่ละคนไม่เท่ากัน

สำหรับรายได้จากยอดวิวนั้นไม่ได้มาจากการชมคลิป แต่เป็นยอดวิวที่รับชมโฆษณาในคลิปนั้นๆ ยิ่งคนชมโฆษณามากเท่าไหร่ รายได้ก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยูทูปเบอร์แต่ละคนก็จะได้รายได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น จำนวนโฆษณาที่แทรกในคลิป รวมถึงจำนวนผู้ติดตาม เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรามักจะได้ยินยูทูปเบอร์บอกให้กดติดตามเพื่อให้มาชมคลิปที่เขาได้แทรกโฆษณาคั่นไว้แต่ละช่วงของคลิป รวมถึงโฆษณาที่เป็นแบนเนอร์ใต้คลิป และโฆษณาป้ายสี่เหลี่ยมด้านข้างคลิปวีดิโอที่ล้วนแล้วแต่สร้างรายได้ให้ทั้งสิ้น

แม้รายได้มหาศาลจะมาจากโฆษณาบนยูทูปจนทำให้ยูทูปเบอร์หลายคนเลือกสร้างคอนเทนต์ที่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะกรณีการแกล้งคนอื่น ซึ่งมีประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ต้องแลกกับคุณภาพของเนื้อหาคงหนีไม่พ้นเรื่องสปอนเซอร์ ยูทูปเบอร์ชื่อดังอย่าง My Mate Nate ยอมรับว่า การมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีหรือเคยมีดราม่า ส่งผลให้สปอนเซอร์ไม่กล้าเข้ามาลงทุน ดังนั้น รายได้หลักของช่องจึงกลายเป็นยอดวิวจากการโฆษณาบนคลิปเท่านั้น จึงทำให้คลิปของเขาอาจปรากฏโฆษณาคั่นมากกว่ายูทูปเบอร์คนอื่นๆ 

 

3 เดือน ยูทูปลบคลิปกว่า 8 ล้านรายการ เพราะผิดหลักเกณฑ์

มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจยูทูปประเทศไทย เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ความรับผิดชอบคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของการทำงานของยูทูป นับตั้งแต่วันแรกที่ให้บริการจึงมีหลักเกณฑ์ที่ควบคุมว่า วิดีโอใดบ้างที่สามารถเผยแพร่บนแพลตฟอร์มยูทูปได้ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. ภาพเปลือยหรือเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ
  2. เนื้อหาที่เป็นอันตรายหรือให้โทษ อย่าโพสต์วิดีโอที่ส่งเสริมให้ผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กๆ ทำในสิ่งที่อาจจะทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บสาหัส วิดีโอที่แสดงการกระทำที่ให้โทษหรือเป็นอันตรายอาจถูกจำกัดอายุหรือถูกนำออก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของวิดีโอ
  3. เนื้อหาแสดงความเกลียดชัง
  4. ภาพหรือเนื้อหาที่มีความรุนแรง
  5. การคุกคามและการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต
  6. สแปม ข้อมูลเมตาที่ทำให้เข้าใจผิด และสแกม
  7. การคุกคาม เช่น พฤติกรรมการขโมย การคุกคาม การขู่เข็ญ การล่วงละเมิด การข่มขู่ การล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น และการยั่วยุผู้อื่นให้กระทำความรุนแรงหรือละเมิดข้อกำหนดในการให้บริการจะถือเป็นความผิดร้ายแรง
  8. ลิขสิทธิ์
  9. ข้อมูลส่วนบุคคล
  10. การแอบอ้างบุคคลอื่น
  11. ความปลอดภัยของเด็ก

หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจยูทูปประเทศไทย ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพค้นหาเนื้อหาที่มีอยู่จำนวนมาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตัดสินใจเชิงบริบทเกี่ยวกับเนื้อหาที่ควรลบออกตามหลักเกณฑ์ของยูทูป

เฉพาะไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 เราได้ลบวีดิโอที่ละเมิดหลักเกณฑ์ยูทูปออกไป 8.3 ล้านรายการ และ 76% ของวีดิโอที่ระบบของเราตรวจพบว่าละเมิดหลักเกณฑ์ถูกลบออกก่อนที่จะมีผู้เข้ามาชม

ทั้งนี้ ยูทูปเองยังเปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนของยูทูปรายงานเนื้อหาที่พบว่าละเมิดหลักเกณฑ์ เมื่อได้รับการรายงานเกี่ยวกับวีดิโอที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแล้ว ทางยูทูปจะทำการตรวจสอบอย่างรวดเร็ว และหากพบว่าวีดิโอดังกล่าวละเมิดหลักเกณฑ์ ยูทูปจะลบวีดิโอดังกล่าวออกทันที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง