เคาะประกันรายได้ปาล์ม 4 บาท/กก. ชง ครม. 20ส.ค.

เศรษฐกิจ
19 ส.ค. 62
15:42
1,773
Logo Thai PBS
เคาะประกันรายได้ปาล์ม 4 บาท/กก. ชง ครม. 20ส.ค.
กนป.เห็นชอบมาตรการประกันรายได้เกษตรกร 4 บาท/กก. เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบพรุ่งนี้ ช่วยผู้ปลูกปาล์ม 3 แสนครัวเรือน

วันนี้ (19 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกตามที่ได้สรุปจาก 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร โดยรัฐรับประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มที่ 4 บาทต่อกิโลกรัม รายละไม่เกิน 25 ไร่ต่อครัวเรือน โดยจ่าย 3 เดือนครั้ง ขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเพื่อขออนุมัติงบประมาณ 

 

สำหรับหลักเกณฑ์ที่เกษตรกรจะได้รับส่วนต่างจากการประกันรายได้ จะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มครอบคลุม 300,000 ครัวเรือน ทั้งนี้จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร โดยรัฐจะจ่ายส่วนต่างผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบหรือน้ำมันซีพีโอส่วนที่เหลือตามกรอบที่ตกลงกันไว้อีก 130,000 ตัน ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อพยุงราคาปาล์ม

 

รวมทั้งกำหนดให้มีการติดตั้งมิเตอร์เพื่อควบคุมการเข้าออกของน้ำมันปาล์มดิบเนื่องจากพบว่าขณะนี้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 400,000 ตัน จากระดับสำรองปกติที่ 250,000 ตัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีการลักลอบ หรือเกิดจากการถ่ายลำผ่านแดนโดยใช้ไทยเป็นทางผ่านแต่ไม่ได้นำน้ำมันปาล์มออกไปจริง โดยขอให้หน่วยงานความมั่นคง กรมศุลกากรเข้มงวดการนำเข้า นอกจากนี้จะเร่งการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 ภายในปลายปีนี้เพื่อดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มและช่วยพยุงราคาปาล์มให้ปรับตัวสูงขึ้น

 

นายอธิราช ดำดี ผู้ทรงคุณวุฒิ กนป.ระบุว่า แม้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจะพอใจที่รัฐรับประกันรายได้แต่เป็นมาตรการระยะสั้นโดยขอให้รัฐหาวิธีดูแลเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลราคาปาล์มให้มีเสถียรภาพและไม่เป็นภาระของรัฐเพราะขณะนี้ราคาปาล์มสดยังอยู่ต่ำกว่าต้นทุน ที่ 3.10 บาท โดยอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.70 - 3 บาท ส่วนน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 15.75 บาท สำหรับการประกันรายได้ในครั้งนี้ คคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาทครอบคลุมทั้งพื้นที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 300,000 ครัวเรือน ทั้งนี้จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง