รมว.แรงงาน เผย 14 ลูกเรือไทยในโซมาเลีย กลับถึงไทยสัปดาห์หน้า

สังคม
19 ส.ค. 62
18:11
235
Logo Thai PBS
รมว.แรงงาน เผย 14 ลูกเรือไทยในโซมาเลีย กลับถึงไทยสัปดาห์หน้า
รมว.แรงงงาน เผยลูกเรือไทยในโซมาเลียอีก 14 คน ขอกลับไทยถึงสัปดาห์หน้า อีก 6 คน ขอทำงานต่อกับนายจ้างอิหร่าน สั่งเร่งติดตามนายจ้างโซมาเลียค้างค่าจ้าง

วันนี้ (19 ส.ค.2562) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในโซมาเลียว่า ในส่วนของเรือวาดานิ 2 ซึ่งมีลูกเรือจำนวน 20 คน เป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ 6 คน ระนอง 3 คน สมุทรสาคร สุรินทร์ และนครพนม จังหวัดละ 2 คน ที่เหลือเป็นชาวชัยภูมิ สกลนคร อุบลราชธานี หนองคาย และอุทัยธานี จังหวัดละ 1 คน

จากการรายงานของ น.ส.โสพิศ หมัดป้องตัว อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทราบว่า ขณะนี้แรงงานไทยในโซมาเลียทุกคนได้รับการช่วยเหลือปลอดภัยดี และขึ้นมาบนฝั่งทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการประสานเพื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย คาดว่าจะถึงไทยภายในสัปดาห์หน้า

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ลูกเรือ 20 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ 7 คน และจากการหารือพบว่า นายชารีฟ นายจ้าง ชาวอิหร่าน และนายอาร์มิล บุตรชาย ไม่ใช่ผู้ที่สร้างปัญหากับลูกเรือตามที่หลายฝ่ายกังวล แต่นายชารีฟและครอบครัวได้เข้ามาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของลูกเรือเนื่องจากมีความสนิทคุ้นเคยกับลูกเรือเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ลูกเรือไทยทั้งหมด 20 คน จำนวน 14 คน แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ส่วน 6 คน ประสงค์ทำงานกับนายชารีฟที่ประเทศอิหร่าน ซึ่งลูกเรือไทยทั้ง 14 คน ได้รับการช่วยเหลือจากนายชารีฟจ่ายค่าวีซ่าให้และให้เงินเดือนล่วงหน้าเดือน ส.ค.จำนวน 1 เดือน โดยนำมาเป็นค่าตั๋วเครื่องบินกลับไทย เส้นทางเมืองบันดาอับบาส เตหะราน-กรุงเทพฯ เงินใช้จ่ายส่วนตัวระหว่างเดินทาง และเป็นค่าใช้จ่ายกลับภูมิลำเนา

 

ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการหาข้อเท็จจริงกับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาแล้ว และรอตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมกับลูกเรือไทยที่กำลังจะเดินทางกลับมา เพื่อติดตามเรื่องค้างจ่ายค่าจ้างว่าบุคคลใดเป็นนายจ้าง ซึ่งเบื้องต้นลูกเรือไทยทั้งหมดไม่ได้รับค่าจ้างขณะทำงานอยู่ที่ประเทศโซมาเลียส่วนขณะทำงานอยู่ที่ประเทศอิหร่าน นายจ้างไม่มีปัญหาค้างจ่ายค่าจ้าง

รวมทั้ง การยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ยักยอกเงิน การขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ที่จะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบ เป็นค่าพาหนะ (ในต่างประเทศ) ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เท่าที่จ่ายไม่เกินจริง 30,000 บาท ส่วนลูกเรืออื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฯ จะประสานรับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับภูมิลำเนา

 

สำหรับการสอบสวนข้อเท็จจริง นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล หรือ เสี่ยช้าง บุคคลที่ลูกจ้างระบุว่าเป็นนายหน้าว่าจ้างและพาลูกเรือทั้งหมดไปส่งนั้น เบื้องต้นไม่พบความผิดว่านายนิธิวัฒน์ หลอกลวงลูกจ้าง เนื่องจากได้ดำเนินการจ่ายค่าจ้าง และดำเนินการตามสัญญาจ้างไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงกับลูกเรือเพิ่มเติม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง