สำรวจร้านขาย “เครื่องตัดสัญญาณGPS” รถตู้โดยสาร

ภูมิภาค
20 ส.ค. 62
18:40
4,531
Logo Thai PBS
สำรวจร้านขาย “เครื่องตัดสัญญาณGPS” รถตู้โดยสาร
ตรวจพบ “เครื่องตัดสัญญาณจีพีเอส” รถโดยสารสาธารณะ ไม่ได้มีขายแค่ในร้านออนไลน์เพียงอย่างเดียว ขณะที่การสุ่มทดสอบนั่งรถตู้โดยสารสาธารณะอีกครั้ง พบคนขับมีวิธีหลบเลี่ยงความผิดและปิดเสียงแจ้งเตือนไม่ให้ผู้โดยสารรู้ว่ากำลังนั่งรถที่ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด



วันนี้(20 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนรถตู้โดยสารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกจะมีเครื่องจับความเร็ว หรือ GPS ติดอยู่บริเวณใต้ที่ใส่ของด้านหน้ารถฝั่งที่นั่งข้างคนขับ เครื่องตัวนี้จะมีลำโพงเชื่อมต่อกับระบบGPS เมื่อขับรถเร็วเกิน 90 กม./ชม.จะมีสัญญาณเตือนดังขึ้นทันที แต่ถ้าขับรถไม่เกินความเร็วที่กฎหมายกำหนดเสียงจะเงียบ เสียงที่ดังขึ้นมาจะคล้ายกริ่งสัญญาณเตือนไม่คาดเข็มขัดเวลานั่งรถยนต์ แต่จากการสุ่มตรวจด้วยการนั่งรถตู้โดยสารสาธารณะพบวิธีปิดเสียงเตือนไม่ให้รู้ว่ารถที่ขับกำลังเเล่นด้วยความเร็วสูง

 

เปิดใจ "คนขับรถตู้" ปิดเสียงเตือนGPS ไม่ให้ผู้โดยสารรู้ว่าขับเร็ว

 คนขับรถตู้โดยสารสาธารณะคนนี้ สาธิตวิธีการตัดสายไฟที่เชื่อมต่อลำโพงกับเครื่องGPSจับความเร็วรถออกจากกัน เขาอ้างว่าวิธีนี้จะทำให้เสียงเตือนเงียบสนิทเมื่อขับเร็วเกิน 90 กม./ชม. อีกวิธีคือใช้ดินน้ำมันแปะไปที่ลำโพงขนาดเล็กใต้ที่ใส่ของฝั่งคนนั่งข้างคนขับเพื่อลดเสียงเตือนเมื่อขับเร็วให้เบาลง คนขับรถตู้อ้างว่าที่ต้องทำแบบนี้เพราะระหว่างเดินทางหลายครั้ง ลูกค้าที่นั่งรถมาด้วยมักจะรำคาญสัญญาณเตือนที่ดังขึ้นเมื่อขับเร็วเกิน 90 กม./ชม.เวลาเเซง หรือ ใช้ความเร็วเมื่อถนนโล่ง วิธีนี้ถูกเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

 
ผมตัดไม่ให้สัญญาณมันดังเพราะเวลาวิ่งถึง 100 กม./ชม. มันก็จะดัง กรมการขนส่งทางบกเขาให้ไม่เกิน 2 นาที หลังจากนั้นเราต้องรีบให้มันลดเหลือ 90 กม./ชม. เพราะเครื่องจะไปเตือนที่ศูนย์ฯทำให้เราถูกลงโทษ ถูกปรับ บางทีก็ผมก็ง่วงเวลาขับตามกฎหมาย บางที่ลูกค้าที่นั่งก็รำคาญเสียงดังเวลาขับเกินเป็นระยะ เลยใช้วิธีนี้ปิดสัญญาณแจ้งเตือนความเร็วGPS

 



ส่วน "เครื่องตัดสัญญาณGPS" ที่ถูกพบขายในร้านค้าออนไลน์ หรือ หน้าร้านทั่วไป แบบรุ่นUSB หรือ แบบ 1 เสาคล้ายวิทยุสื่อสาร คนขับรถตู้โดยสารสาธารณะคนนี้อ้างว่าตัวเองไม่ได้ซื้อมาใช้งาน แต่เคยได้ยินเรื่องนี้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีขายและใช้งานได้จริงด้วยการไปหน่วงสัญญาณให้ความเร็วรถตู้จาก 120 กม./ชม.เหลือ 90 กม./ชม. ส่งไปที่ศูนย์จัดการเดินรถระบบGPS ของกรมการขนส่งทางบก หรือ ทำให้รถเหมือนจอดนิ่งอยู่กับที่ระหว่างขับออกนอกเส้นทาง

 

สำรวจร้านขาย "เครื่องตัดสัญญาณGPS" รถตู้โดยสารสาธารณะ 

 

ทีมข่าวเดินทางไปที่ตลาดซื้อ-ขายอุปกรณ์รถยนต์ย่านรังสิต สำรวจร้านขาย "เครื่องตัดสัญญาณGPS" ความเร็วรถตู้โดยสารสาธารณะ พบร้านขายอุปกรณ์ชนิดนี้ เมื่อติดต่อขอซื้อคนขายอ้างว่าสินค้าหมด แนะนำให้ไปอีกสถานที่หนึ่งย่านรังสิตเช่นกัน เมื่อเดินทางไปตามคำบอกว่าผู้ค้าหลายร้านยอมรับว่ามีคนมาขอซื้อบ่อยครั้ง แต่ไม่มีสินค้าจึงแนะนำว่าให้ค้นหาซื้อในร้านค้าออนไลน์แทน

อ่านต่อ (เปิดโปงกลุ่มอ้างขาย "เครื่องตัดสัญญาณGPS" รถตู้โดยสาร)

มีคนมาขอซื้อ "เครื่องตัดสัญญาณGPS"บ่อย แต่ตอนนี้ที่ร้านไม่มีขาย ไม่ต้องไปถึงคลองถมแหล่งที่เขาบอกว่ามีกันหรอก มีสถานที่หนึ่งย่านรังสิตก็มีขายเหมือนกัน ราคาพอๆกัน หรือ หน้าร้านไม่มีก็ไปติดต่อซื้อในอินเทอร์เน็ต


"ผู้โดยสาร" นั่งรถตู้สาธารณะ ชี้ ขับเร็วได้แต่...ต้องปลอดภัย 


ไม่เคยได้ยินหรือรู้จักเสียงสัญญาณเตือนGPSเวลารถตู้ขับด้วยความเร็ว บางทีก็หวาดเสียวอยากให้คำนึงถึงความปลอดภัย แต่อีกมุมถ้าเราเร่งด่วน ต้องรีบกลับต่างจังหวัดหรือไปธุระส่วนตัว รถตู้โดยสารสาธารณะเป็นทางเลือกที่ดีนะ แค่อย่าเร็วจนเกิดอุบัติเหตุ

ผู้ใช้รถสาธารณะย่านรังสิต เล่าให้ฟังว่าใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะเป็นประจำ เพราะเดินทางสะดวกกว่าขึ้นรถเมล์ เรื่องความปลอดภัยขึ้นอยู่กับคนขับ เมื่อถามว่าเคยได้ยินสัญญาณเตือนจากGPSเวลารถขับด้วยความเร็วหรือไม่ มีทั้งบอกว่า "ได้ยิน" และ "ไม่ได้ยิน" ขณะที่การใช้ความเร็วเมื่อขับทางตรงไปต่างจังหวัด หรือที่คนขับรถตู้อ้างว่าทำเวลาให้ผู้โดยสารไปถึงจุดหมายปลายทางได้ทัน ผู้ใช้รถสาธารณะบางส่วนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกอย่างต้องยึดความปลอดภัยเป็นที่ตั้งมากที่สุด

เสียงสะท้อนจาก "คนขับรถตู้โดยสารสาธารณะ" 

 

ต่อภาษี 6 เดือนครั้ง รู้ไหมจ่ายค่าปรับเป็นหมื่นๆกับกรมการขนส่งทางบก อยากให้ทบทวนเรื่องนี้ให้เหมาะสม เห็นใจคนขับรถตู้โดยสารสาธารณะที่หาเช้ากินค่ำบ้าง บางคนถูกปรับ 6 หมื่นบาท ต่อภาษีแค่ไม่กี่พันบาท


รถตู้โดยสารสาธารณะสามารถใช้ความเร็วมากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ไม่เกิน 2 นาที ส่วนรถทัวร์ใช้ความเร็วเกิน 90 กม./ชม.ได้ไม่เกิน 15 นาที หากเกินจะถูกปรับครั้งละ 500-1,000 บาท คนขับรถตู้บางส่วนเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ทบทวนมาตรการควบคุมความเร็วด้วยจีพีเอส อ้างว่าทำไปเพื่อต้องการช่วยประหยัดเวลาให้ผู้โดยสาร ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต



ขณะที่ศูนย์จัดการเดินรถระบบGPS กรมการขนส่งทางบก มองว่า การจำกัดความเร็วมีกฎหมายควบคุมดูแลและทำไปเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ พร้อมฝากแจ้งผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะว่า แอปพลิเคชั่น DLT GPS สามารถตรวจสอบว่ารถที่นั่ง หรือ คันข้างหน้าวิ่งตามเส้นทางที่กำหนด หรือตัดสัญญาณเตือนความเร็วให้จอดนิ่งได้ได้ และหากพบรถผิดกฎหมายสามารถแจ้งร้องทุกข์ผ่านช่องทางนี้ได้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง