หัวเว่ยจ่อลงทุน 5 จี หลังทดสอบระบบในพื้นที่อีอีซี

เศรษฐกิจ
22 ส.ค. 62
15:25
550
Logo Thai PBS
หัวเว่ยจ่อลงทุน 5 จี หลังทดสอบระบบในพื้นที่อีอีซี
ปัญหาสงครามการค้าและปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตในหลายประเทศ รองนายกมนตรี สั่งบีโอไอ หาแพคเกจดึงนักลงทุนย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนไทย โดยจัดตั้งทีมเฉพาะกิจดูความต้องการลงทุน

วันนี้ (22 ส.ค.62 ) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดหามาตรการเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และต้องการจะย้ายฐานการผลิต หรือ Relocate แม้ว่าไทยจะมีปัญหาการเมืองที่ยังไม่นิ่ง แต่ยังเป็นเป้าหมายของนักลงทุน จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะต้องดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา

 

ซึ่งล่าสุดกลุ่มนักลงทุนจากบริษัท Huawei บริษัทโทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ต้องการจะหารือกับรัฐบาลไทยในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ว่าต้องการจะหารือถึงการ ปักหมุดการลงทุนระบบเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยหลังจากได้ ทดสอบเทคโนโลยี 5G แบบครบวงจรในพื้นที่ EEC ช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้นจึงต้องการให้ประเทศไทยศึกษาอย่างจริงจังและให้เกิดในช่วงปี 2560 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และต้องการสร้าง Eco System โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนที่จะมารองรับระบบเทคโนโลยี 5G ในอนาคตซึ่งขณะนี้ Huawei ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย 5 แห่งเพื่อสร้างบุคลากรรองรับในเทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้นไทยจะต้องใช้โอกาสเปิดพื้นที่การลงทุนรองรับการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่จะเข้ามาในประเทศ

 

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการ บีโอไอ ระบุว่า มาตรการแพ็คเกจใหญ่ที่จะออกมาดึงดูดนักลงทุนจะ ครอบคลุมการทำงานของทุกหน่วยงาน เพราะมองว่า การตัดสินใจลงทุนจะไม่ได้มีเพียงแค่สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่จะต้องมีมาตรการอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนในหลายด้านด้วย รวมถึงจะจัดตั้งทีมเฉพาะกิจระดับภูมิภาค เพื่อติดตามว่า นักลงทุนต่างชาติมีความต้องการ หรือปัญหาการลงทุนในด้านใดเพื่อจะจัดหามาตรการให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุน

โดยจะต้องมีการจัดกิจกรรมทางการตลาด ที่ต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น ธนาคารที่จะต้องทำหน้าที่ การปล่อยเงินกู้ให้กับนักลงทุน รวมถึงการเร่งรัดขั้นตอนการอำนวยความสะดวกในการลงทุนเพราะนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตต้องการความสะดวกและความรวดเร็วในการลงทุนด้วย

ดังนั้น มาตรการที่ออกมาจะทำเป็นในภาพรวมการลงทุนทั้งประเทศไม่ใช่การลงทุนเฉพาะในพื้นที่ EEC เท่านั้น โดยเบื้องต้นมี นักลงทุนจำนวน 100 บริษัทจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่สนใจจะมาลงทุนในประเทศ

โดยมั่นใจว่าเมื่อมาตรการนี้ออกมา จะทำให้ยอดขอส่งเสริมการลงทุนในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 7 แสน3 หมื่นล้านบาทจากในช่วงครึ่งปีแรกที่มียอดขอส่งเสริมการลงทุนแล้ว 230,000 ล้านบาท

แพคเกจใหญ่ที่จะรองรับกลุ่มนักลงทุน relocate แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันซึ่งไทยจะต้องดูทั้งข้อดีและข้อด้อยอย่างประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งด้าน supply chain มากกว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าแต่ก็ยอมรับว่าไทยยังมีปัญหาในเรื่องแรงงาน เพราะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แม้จะมีคุณภาพแรงงานที่ดีก็จำเป็นจะต้องเข้ามาพัฒนาบุคลากรใหม่ที่จะรองรับการย้ายฐานการผลิตรวมถึงกฎระเบียบต่างๆที่ทาง BOI จะต้องเข้ามาแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะต้องรองรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปากท้องเช่นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปสินค้าที่ทาง BOI จะต้องหามาตรการเข้ามาส่งเสริมเพราะการย้ายฐานการผลิตมีตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงกลาง คาดว่ามาตรการแพ็คเกจใหญ่เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ในวันที่ 30 สิงหาคมนี้

ที่ผ่านมา มูลค่าการย้ายฐานการผลิตจากจีนในปี 2561 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี2560 ที่มีมูลค่า 50,000 ล้านบาทจากปี 2560 ที่ 25,000 ล้านบาท

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง