วิกฤต! พะยูนตาย 17 ชีวิต สะท้อนปัญหาทะเลไทย

สิ่งแวดล้อม
23 ส.ค. 62
11:50
2,856
Logo Thai PBS
วิกฤต! พะยูนตาย 17 ชีวิต สะท้อนปัญหาทะเลไทย
ประเทศไทย สูญเสียลูกพะยูน "ยามีล" หลังจากอยู่ในบ่ออนุบาล 53 วัน ถือเป็นพะยูนตัวที่ 17 ตายในปีนี้ โดยเจ้าหน้าที่เตรียมสตัฟฟ์เพื่อการอนุรักษ์ ด้านมูลนิธิอันดามัน ชงเสนอบังคับใช้กฎหมาย-เลิกเครื่องมือประมงเสี่ยงต่อชีวิตสัตว์ทะเลหายาก

วันนี้ (23 ส.ค.2562) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า เมื่อเวลา 21.43 น.ได้สูญเสียลูกพะยูนตัวผู้ยามีล อายุ 3 เดือนจากการภาวะอาการช็อก ทีมสัตว แพทย์เร่งช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR แต่ไม่สามารถช่วยกลับมาได้และได้ตายลง เนื่องจากสภาพร่างกายบอบช้ำมาก หลังจากทีมสัตวแพทย์และทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้นำตัวพะยูนยามีล ส่งรักษาที่โรงพยาบาลวิชระ ภูเก็ต เพื่อผ่าตัดนำก้อนหญ้าทะเลที่อัดแน่นบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้ออก ด้วยการทำหัตถการทางการแพทย์

โดยได้รับความอนุเคราะห์จากทีมแพทย์ด้านศัลยกรรมใช้กล้อง Endoscope และการทำซีทีสแกน แล้วเคลื่อนย้ายพะยูนยามีล กลับมาพักฟื้นยังบ่ออนุบาล ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่พบว่ายามีล มีการเต้นของหัวใจที่ต่ำและน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะสัญญาณชีพที่อ่อนลง

ถือเป็นการสูญเสียพะยูนในท้องทะเลไทยปีนี้รวมแล้ว 17 ตัว โดยเฉพาะสัปดาห์นี้มีพะยูนตายรวมกัน 4 ตัวคือมาเรียม ยามีล พะยูนที่เกาะพีพี จ.กระบี่ และตรัง

ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์จะชันสูตรหาสาเหตุการตายของยามีล จากนั้นจะนำยามีลไปสตัฟฟ์เหมือนกับมาเรียม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ทะเลหายาก ใช้เพื่อการอนุรักษ์และศึกษาต่อไปในอนาคต

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ทช.เสียใจ-ขอโทษที่ช่วยชีวิตลูกพะยูนไม่ได้

ด้านเพจเฟซบุ๊กกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่าทช.ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุด และขออภัยพี่น้องชาวไทย ที่ไม่สามารถช่วยอนุบาลลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวให้มีโอกาสรอดกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างที่ตั้งใจไว้

ในโอกาสนี้ ทช. ขอกราบพระบาท สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก และทรงรับไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะกา รังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และทรงพระราชทานกำลังใจให้กับทีมงานที่ดูแลพะยูนตลอดมา

ทช.ขอขอบพระคุณพี่น้องชาวไทยที่ติดตาม และให้ความสนใจ ความรัก เมตตาที่มีต่อลูกพะยูนที่พลัดหลงจากแม่ทั้งน้องมาเรียม และน้องยามีล ต่อเนื่องกันมานับร้อยวัน และขอขอบคุณทีมหมอ จิตอาสา ชุมชนเกาะลิบง จ.ตรัง อ่าวทึง จ.กระบี่ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง จากทุกภาคส่วนที่ช่วยกันดูแลต่อเนื่องกันมา

แม้วันนี้ลูกพะยูนทั้ง 2 ตัว จะจากพวกเราไปแล้ว แต่เราไม่ได้สูญเสียพวกเขาไปโดยเปล่าประโยชน์ น้องๆ ทั้งสองตัว ได้ทิ้งองค์ความรู้ในการดูแลสัตว์ทะเลหายากไว้ให้เรา พร้อมกับจิตสำนึกในการร่วมดูแลรักษาทะเลไว้ให้กับพวกเราชาวไทย ทช. สัญญาว่าจะร่วมกับพี่น้องประชาชนในการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างดีที่สุดต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ความตายสีเทา 5 ชีวิต “พะยูน” กระบี่-ตรัง

กลุ่มอนุรักษ์วอนกำจัดเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย  

ขณะที่มูลนิธิอันดามัน Save Andaman โพสต์ข้อความว่า พะยูนไทยจะต้องสังเวยอีกกี่ตัว? เมื่อวานพบพะยูนตาย เป็นตัวที่ 17 ในรอบปีนี้ วันนี้ทราบข่าวร้ายน้องยามีล ได้จากเราไปอีกตัว เป็นข่าวที่สร้างความเสียใจให้กับเราทุกคน แต่จะเป็นพะยูนตัวไหนๆก็มีค่าเท่ากันหมด เราหวังว่าคงถึงเวลาที่จะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังที่ต้นเหตุ 

เครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจ.ตรัง ไม่เคยนิ่งเฉย เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมาได้ยื่นข้อเสนอมาตร การอนุรักษ์พะยูนในทะเลตรัง ในที่ประชุมคณะกรรมการประมงจังหวัดตรัง แต่ทุกอย่างกลับนิ่งเฉยไร้การปฏิบัติ แล้วเราจะคาดหวังกลไกการทำงานจากภาครัฐได้อย่างไร?

วันนี้คงถึงเวลาที่เราต้องมีปฏิบัติการร่วมกันอย่างจริงจังสักทีเสียงของชาวประมงพื้นบ้านถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง‼️  เพื่อให้การแก้ปัญหาการลักลอบใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายและทำลายพันธุ์สัตว์น้ำและการใช้เครื่องมือทำการประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน และสัตว์ทะเลหายากเกิดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน เครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรังขอเสนอมาตรการดังนี้ 

  • กติกาชุมชนภายใต้ข้อบัญญัติท้องถิ่นฯ และข้อตกลงเหล่านี้ควรมีการพัฒนาให้เป็นประกาศจังหวัดตรัง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดเครื่องมือทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ.2560 ลงวันที่ 9 พ.ย.2560 โดยการพัฒนากติกาชุมชน ให้เป็นประกาศจังหวัดต้องมีการจัดประชุม รับฟังความคิดเห็นของชาวประมงและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณจังหวัดเพื่อดำเนินการ
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการออกลาดตระเวน เฝ้าระวังการลักลอบใช้เครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อพะยูน โดยให้รื้อฟื้นชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจราษฎรอาสา (ฉก.) รักษาทะเล ออกปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง 
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

 

  • การใช้มาตรการทางปกครองเพื่อแก้ปัญหา ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกับอาสาสมัครฯ ในการออกลาดตะเวนเฝ้าระวังทางทะเล นายอำเภอภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายระดับอำเภอต้องกำชับกำนัน และผู้ใหญ่ ให้ทำการสำรวจประเภทเครื่องมือประมงในพื้นที่ของตนเองว่ามีการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย และที่เป็นอันตรายต่อพะยูน เช่นเบ็ดราไว อวนจมปลากระเบนหรือไม่ ต้องมีการทำรายงานประจำเดือนเสนอต่อที่ประชุม และหากพบว่ามีต้องกำหนดเป้าหมายในการลดและเลิกใช้โดยการขอความร่วมมือจากชุมชน หรืออาจสนับสนุนงบปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน และสัตว์น้ำวัยอ่อนตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้องเป็นมาตรการเชิงรณรงค์ ขอความร่วมมือ และชี้ให้เห็นว่าทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาทะเลเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร
  • การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาร่วมกับอาสาสมัคร(ฉก.) โดยบูรณาการแผนการออกลาดตระเวนระหว่างใบไม้เขียว และสบทช.10 สำหรับในส่วนของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเภตราขอความร่วมมือในการดูแลพื้นที่ของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดตรังว่าด้วยเรื่องพะยูน เพื่อการสนับสนุนงบประมาณแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และควรกำหนดให้มีการจัดงานณรงค์เนื่องใน “วันพะยูนโลก” ประจำปีเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนในการอนุรักษ์พะยูนและระบบนิเวศชายฝั่ง

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ยามีล” ลูกพะยูนตายแล้วช็อก-หัวใจหยุดเต้นหลังดูแล 53 วัน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานชื่อพะยูนกระบี่ "ยามีล"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง