นายกฯเปิดประชุม ผบ.ทหารสูงสุด ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก

การเมือง
27 ส.ค. 62
10:37
231
Logo Thai PBS
นายกฯเปิดประชุม ผบ.ทหารสูงสุด ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
นายกรัฐมนตรี หนุนกองทัพไทยมีบทบาทสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก คาดหวังให้เป็นภูมิภาคแห่งการเจรจาและสันติภาพ

วันที่ (27 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภูมิภาค อินโด – แปซิฟิก พ.ศ.2562 (Chiefs of Defense Conference – CHOD 2019) ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดการประชุม และได้กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งว่า

เราจะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจากภูมิภาคแห่งการแข่งขัน เป็นภูมิภาคแห่งการเจรจาและสร้างความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน เราจะต้องสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค เสริมสร้างโครงสร้างภูมิภาคที่ยึดกฎกติกา มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อกัน และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ครอบคลุมทั้งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออก เป็นภูมิภาคที่มีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในด้านสังคม ภูมิภาคนี้มีจำนวนประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ ในด้านการเมือง ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายของระบอบการปกครองในด้านความมั่นคง

ภูมิภาคนี้นับเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญทั้งทางบกและทางทะเล สำหรับในด้านเศรษฐกิจ ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ทำให้อินโดแปซิฟิกกลายเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่กว่าร้อยละ 60 ของการสัญจรทางทะเลของโลกเกิดขึ้นภายในภูมิภาคแห่งนี้ และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ของประเทศในภูมิภาคนี้รวมกันเป็น 2 ใน 3 หรือร้อยละ 60 ของ GDP โลก

ทั้งนี้ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ประกาศแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือและร่วมใจของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันทั้งในและนอกภูมิภาค ส่งเสริมความเชื่อมั่น ความเชื่อใจต่อกันให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนในที่สุด

สำหรับเนื้อหาและหัวข้อหลักของการประชุม มุ่งเสริมสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ แนวทางการปฏิบัติร่วม และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค บนพื้นฐานของข้อตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนหารือในประเด็นสิ่งท้าทายด้านความมั่นคงต่างๆ เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขต่อไป โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้แทนจากกองทัพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก จำนวน 31 ประเทศ เดินทางเข้าร่วม นับว่าเป็นครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีคณะผู้แทนทางทหารเข้าร่วมการประชุมฯ มากที่สุด ตั้งแต่มีการจัดประชุมฯ ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง