มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ปมถวายสัตย์ฯ

การเมือง
27 ส.ค. 62
15:00
878
Logo Thai PBS
มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ปมถวายสัตย์ฯ
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงว่ากรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนนั้น อาจส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิของประชาชนที่ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจ ซึ่งอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (27 ส.ค.2562) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามคำร้องของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ยื่นร้องว่าการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 สืบเนื่องเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพ ได้รับผลกระทบต่อสิทธิจากการดำเนินการตามนโยบายและโครงการของรัฐบาล

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่แจงยืนยันว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตน เป็นการกระทำที่ครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยแล้ว แต่คำกล่าวยังขาดถ้อยคำ "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลเป็นการบังคับใช้ไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 กำหนดไว้ 

ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของ ครม. มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย รวมถึงปัญหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ยื่นเรื่องร้องเรียน เช่น นโยบายรัฐบาลหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะทำความเห็นและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้

 

นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังสั่งยุติเรื่องคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรต้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ที่ยื่นเรื่องกรณีการคำถวายสัตย์ด้วยถ้อยคำที่เพิ่มขึ้นมาใหม่และไม่ครบถ้วน ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 161 กำหนดไว้ ซึ่งจากการพิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่าการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าว เป็นการกระทำไม่ได้เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เบื้องต้น จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาต่อว่ามีข้อความหรือถ้อยคำในการกล่าวคำถวายสัตย์มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกล่าวคำถวายสัตย์เป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การกระทำทางปกครองหรือการใช้อำนาจทางปกครองจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจในการพิจารณาของศาลปกครอง 

ส่วนคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กรณีกระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยุติเรื่อง โดยพิจารณาแล้วเห็นว่ากระบวนการนั้น เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และการดำเนินการโหวตนายกรัฐมนตรีของ นายชวน หลีกภัย  ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และรับฟังไม่ได้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงไม่เข้าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง