"ปิยบุตร" ชี้นายกฯ รับพระราชดำรัสฯ ไม่ใช่การถวายสัตย์ใหม่

การเมือง
27 ส.ค. 62
16:46
2,403
Logo Thai PBS
"ปิยบุตร" ชี้นายกฯ รับพระราชดำรัสฯ ไม่ใช่การถวายสัตย์ใหม่
"ปิยบุตร" แถลงปมถวายสัตย์ฯ ชี้ การเข้ารับพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ไม่ถือเป็นการถวายสัตย์ฯ ครั้งใหม่ พร้อมรอคำวินิจฉัยศาล รธน. จวกเละ! ยุบประชาชนปฏิรูป ทำลายระบบพรรคการเมือง


วันนี้ (27 ส.ค.2562) รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวกรณีการถวายสัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หลังที่ประชุมคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีมีผู้ยื่นคำร้อง ว่าการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 นั้น

รศ.ปิยบุตร ระบุว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.เข้ารับพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ฯ เพื่อน้อมรับเป็นสิริมงคล ว่า กรณีนี้ ขอยืนยันตามความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ครั้งใหม่ โดยได้ยกข้อความในหนังสือ หลังม่านการเมือง ที่นายวิษณุเขียนไว้ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีนำ ครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ จบแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชดำรัสให้กำลังใจอำนวยพรให้กับ ครม. ซึ่งหลายครั้ง พระราชดำรัสได้กลายเป็นแนวทางที่ใช้ในการบริหารประเทศ

โดยได้ยกตัวอย่าง สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขอพระบรมราชานุญาตนำพระราชดำรัสมาตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรแจก ครม.ทุกคน เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจในการทำงาน แต่ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีดังกล่าว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จะทำแบบที่นายบรรหารทำ ครม.ชุดอื่น หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ทำ ก็ถือว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ใหม่

 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม กรณีเมื่อเช้านี้ ถือว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ใหม่ ดังนั้น ต้องมาพิจารณาต่อไปว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นั้นสมบูรณ์หรือไม่

 

 

รศ.ปิยบุตร ยังกล่าวอีกว่า กรณีข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ครบหรือไม่นั้น ได้รับการยืนยันจากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในคำร้องที่มีผู้ร้องมาว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ไม่ครบ ถือเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจโดยมิชอบและน่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ครบถ้วนหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคำร้องในหลายองค์กร เช่น ป.ป.ช. และยังมีญัตติอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 152 แต่ทั้งหมดนี้ ยังไม่มีองค์กรไหนวินิจฉัยยืนยันชัดเจนถึงผลทางกฎหมายของการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอการวินิจฉัยต่อไป

 

ยืนยันว่า ไม่ได้หวังล้มรัฐบาล เราเพียงต้องการความแน่นอนชัดเจน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่โดยสมบูรณ์แบบตามรัฐธรรมนูญ จะได้ชัดเจนว่ามาตรการหรือมติต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะมีความชัดเจนสมบูรณ์ ไม่เสี่ยงที่จะโมฆะ ถ้าแก้ปัญหาตั้งแต่วันที่ผมได้อภิปรายไปในสภา เรื่องก็จะไม่บานปลายมาจนถึงจุดนี้

 

ยุบ "ประชาชนปฏิรูป" ส่อควบรวมพรรคการเมือง

ส่วนกรณีการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป รศ.ปิยบุตร แสดงความเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 มีเจตนารมณ์เกี่ยวกับการควบรวม และการเลิกพรรค ไว้ดังนี้


1.ไม่ประสงค์ให้ควบรวมพรรคการเมือง สาเหตุเพราะว่าผู้ร่างมีบทเรียนที่ผ่านมาในอดีต คือ มีพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นในเวลานั้น แล้วเมื่อเข้าสู่สภาก็เข้าไปควบรวมพรรคการเมืองต่าง ๆ กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่เกิน 300 เสียง ดังนั้นกฎหมายพรรคการเมือง ปี 2560 จึงเขียนเอาไว้ในหมวด 9 ว่าด้วยการควบรวมพรรคการเมืองว่า จะควบรวมพรรคการเมืองแบบไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ การควบรวมพรรคการเมืองตามกฎหมายปัจจุบันจะเกิดได้มีเงื่อนไข คือ 1.ถ้าอยู่ในสมัยประชุมสภาห้ามควบรวมพรรคการเมืองเด็ดขาด เพื่อป้องกันการควบรวมจากพรรคเล็กไปพรรคใหญ่ 2.หากสองพรรคมารวมกันต้องกำเนิดพรรคใหม่ขึ้นมา มิใช่ เล็กไปรวมกับใหญ่ แล้วอยู่ในนามพรรคใหญ่ และ 3.ต้องเรียกประชุมใหญ่ทั้ง 2 พรรคเพื่อลงมติการควบรวมพรรค

2.การเลิกพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 (7) ถ้าหากมีการเลิกพรรคเกิดขึ้นให้ปฎิบัติเหมือนถูกยุบพรรค และเพื่อคุ้มครองสถานะของ ส.ส. ให้ ส.ส.สามารถหาพรรคใหม่ได้ภายใน 60 วัน

โดยระบุว่า การใช้ช่องทางการเลิกพรรค จะต้องไม่นำมาซึ่งการควบรวมพรรคโดยปริยาย จะต้องไม่ใช่การใช้ช่องทางการเลิกพรรคอย่างบิดเบือน เพื่อไปทำให้เป็นการควบรวมพรรค โดยหลีกเลี่ยงกฎหมายข้อห้ามและเงื่อนไขการควบรวมพรรค

 

หากพิจารณาตามกฎหมาย ผมคิดว่าการเลิกพรรคแบบนี้น่าจะทำไม่ได้ เพราะเป็นการใช้บทบัญญัติเรื่องการเลิกพรรคแบบบิดผัน เพื่อส่งผลให้เกิดการควบรวมพรรคการเมืองโดยปริยาย และเป็นการควบรวมพรรคที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

 

รศ.ปิยบุตร ยังกล่าวอีกว่า ผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น พรรคขนาดเล็ก 1 เสียง อาจใช้ช่องทางนี้ควบรวมกับพรรคการเมืองใหญ่ และอาจส่งผลต่อการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงเป็นการทำลายระบบพรรคการเมือง ทำลายเจตจำนงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองนั้น ๆ

 

 

แจง อนค. ถูกร้องไม่ถึงขั้นยุบพรรค

ส่วนประเด็นคดีความของพรรคอนาคตใหม่ รศ.ปิยบุตร ระบุว่า เวลานี้ถูกร้องเรียนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 22 กรณี ที่เข้าสู่กระบวนการขององค์กรต่าง ๆ แต่มีคดีที่น่าจับตา คือ 1.เรื่องหุ้นวี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค วันนี้ สถานะล่าสุด คือ ศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมเพื่อจะมีมติให้มีการไต่สวนหรือไม่ หากมีการไต่สวน ศาลจะนัดคู่ความเพื่อกำหนดวันไต่สวนอีกครั้งหนึ่ง แต่หากศาลไม่อนุญาตให้ไต่สวน ศาลจะกำหนดว่าวินิจฉัยเมื่อไหร่

2.คดีอิลลูมินาติ ที่มีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง อ้างว่านายธนาธร และตนเอง ใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งขั้นตอนคดีนี้ ยังอยู่ชั้นคำให้การต่อศาล ดังนั้น คดีนี้ยังไม่มีการวินิจฉัย และ 3.คดีเรื่องเงินกู้ หัวหน้าพรรคให้พรรคกู้เงิน ตอนนี้อยู่ในชั้นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการสืบสวน สอบสวน และไต่สวน

ซึ่ง รศ.ปิยบุตร มองว่า หากผลคำวนิจฉัยเป็นไปในทางที่เลวร้ายต่อพวกเราอย่างที่สุด ก็ไม่ส่งผลให้เกิดการยุบพรรค แต่หัวหน้าพรรคอาจหลุดจากการเป็น ส.ส. แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 คดี ไม่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคทั้งสิ้น

 

ทำไมสังคมถึงคิดว่าพรรคอนาคตใหม่จะโดนยุบ สังคมเชื่อโดยล่วงหน้า หากแต่สังคมประเมินจากประวัติศาสตร์ 13 ปีที่ผ่านมาที่มีการยุบพรรคบ่อยครั้ง นั่นหมายความว่า คนจำนวนมาก ประเมินและตัดสินล่วงหน้าโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยกฎหมาย เพราะทุกคดีเราไม่เกี่ยวกับการยุบพรรคทั้งสิ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่ง ศรธ.ปมถวายสัตย์ฯ

กกต.มีมติ ให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง