ประเมิน "พายุโพดุล" จ่อเข้าไทย 31 ส.ค.-1 ก.ย.นี้

ภัยพิบัติ
27 ส.ค. 62
19:41
15,978
Logo Thai PBS
ประเมิน "พายุโพดุล" จ่อเข้าไทย  31 ส.ค.-1 ก.ย.นี้
กรมอุตุนิยมวิทยา จับตาพายุโพดุล กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกผ่านประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ในวันพรุ่งนี้ (28 ส.ค.) โดย สทนช.ประเมินเส้นทางพายุ คาดเข้าทางตอนเหนือของไทย ส่งผลฝนตกหนักช่วงวันที่ 31 ส.ค.-1 ก.ย.นี้

วันนี้ (27 ส.ค.2562) กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าพายุดีเปรสชันบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นโซนร้อน “โพดุล” กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกผ่านประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ในวันพรุ่งนี้ (28 ส.ค.) ขณะที่ประเทศไทย มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง

ประเมินพายุจ่อเข้าไทย 31 ส.ค.-1 ก.ย.นี้ 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ฝน และปริมาณน้ำที่ไหลลงแหล่งน้ำต่างๆ พบว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้จากการติดตามสภาพอากาศโดยศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ พบว่าขณะนี้ได้เกิดพายุทางทิศตะวันออกของฟิลิปปินส์ และคาดการณ์เส้นทางพายุจะเข้าทางตอนเหนือของประเทศไทยในช่วงวันที่ 31 ส.ค - 1 ก.ย.นี้ โดยศูนย์ฯ จะติดตามประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์เส้นทางที่พายุผ่าน เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงพิจารณาแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็กกักมากอาจจะต้องพิจารณาปรับแผนการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ห่วงเขื่อนทับเสลา-ลำพระเพลิง-กระเสียว น้ำน้อย

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ส.ค.-26 ส.ค.นี้ พบว่า มีน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 7,110 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2,272 ล้าน ลบ.ม. ภาคอีสาน 750 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 9 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 117 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 3,554 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 409 ล้าน ลบ.ม.

โดยมีแหล่งน้ำที่น้ำไหลเข้ามากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. รวม 11 แห่ง เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ เพิ่มขึ้น 2,126 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ เพิ่มขึ้น 1,372 ล้าน ลบ.ม เขื่อนศรีนครินทร์ เพิ่มขึ้น 1,083 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล เพิ่มขึ้น 602 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว เพิ่มขึ้น 183 ล้านลบ.ม. 

ส่วนอีก 3 เขื่อนที่ไม่มีน้ำไม่ไหลเข้าอ่าง 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนทับเสลา เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนกระเสียว ซึ่ง สทนช. ได้ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่แล้ว ทั้งนี้ฝนที่ตกสะสม ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ถึงปัจจุบัน ทำให้ให้จำนวนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำลดลงเหลือ 18 จาก 48 จังหวัด

 

 

นอกจากนี้พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก และน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนนี้ บริเวณภาคเหนือตอนบน ได้แก่ น่าน แพร่ สุโขทัย แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร และร้อยเอ็ด 

สทนช.กำชับให้ทำแผนระบายน้ำกรณีฉุกเฉิน ป้องกันน้ำล้นทำนบดินในอ่างทุกขนาด และจัดการน้ำหลากเพื่อเบี่ยงน้ำ โดยใช้อาคารบังคับน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และเปิดทางน้ำใหม่ ป้องกันผลกระทบล่วงหน้า

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน 34 อำเภอ 6 จังหวัดภาคเหนือเสี่ยง "ดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง