ลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน เพิ่มอัตรารอดชีวิต

สังคม
28 ส.ค. 62
15:50
636
Logo Thai PBS
ลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน เพิ่มอัตรารอดชีวิต
“อนุทิน” ย้ำชัดผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เคลื่อนย้ายทางอากาศยาน ไม่ต้องเสียเงินจ่ายเองอีกแล้ว หลังพบผู้ป่วยวิกฤตปีละ 3 แสนคน พร้อมชวนนักบินจิตอาสา ร่วมโครงการสร้างเครือข่ายให้บริการ

วันนี้ (28 ส.ค.2562) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการลงนามความร่วมมือการบริหารจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศระหว่าง ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยระบุว่าเดิมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ เสียค่าใช้จ่ายสูง และผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เพราะการให้บริการส่วนใหญ่เป็นของเอกชน แต่จากนี้ไป ประชาชนเข้ารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเนื่องจากมีงบประมาณจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินของ สพฉ.เข้ามาสนับสนุน หากไม่พอก็เสนอขออนุมัติเพิ่มเติมได้เพราะเป็นการช่วยชีวิตประชาชนและเชื่อว่าการให้บริการนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น จากนี้ไปจะมีต้องสร้างเครือข่ายให้ขยายวงกว้าง โดยให้นักบินจิตอาสาที่มีความต้องการช่วยเหลือชีวิตคน มาร่วมในโครงการฯ

 

 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่ารูปแบบการให้บริการ มี 4 กรณี ได้แก่ บินไปรับที่จุดเกิดเหตุ การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล การลำเลียงทีมแพทย์-เวชภัณฑ์ และการลำเลียงอวัยวะ ภายใต้หลักเกณฑ์ในการที่จะขึ้นบิน ต้องดูจากสภาพผู้ป่วยว่าเหมาะสมที่จะลำเลียงทางอากาศหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ จนถึงความพร้อมของอากาศยาน

โดยทุกกรณี หากแจ้งผ่าน สพฉ.จะดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ภายใต้กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน โดยคิดอัตรา ชั่วโมงบินละ 40,000 บาท ต่อ 1 เครื่องยนต์ ขณะนี้มีงบประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท

 

 

ข้อมูลการปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2552 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2562 มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานแล้ว 357 ครั้ง และสถิติการรอดชีวิตสูงมาก โดยพบว่า ผู้ที่รับบริการเป็นผู้ป่วยวิกฤตเช่น โรคทางสมอง ระบบหายใจ และอุบัติเหตุรุนแรง  ซึ่งโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งอาจไม่มีแพทย์เฉพาะทาง และหากส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทางบกเพื่อไปโรงพยาบาลที่พร้อมกว่าอาจไม่ทัน และทำให้เสียชีวิตกลางทางหรือพิการได้ แต่หากใช้การลำเลียงทางอากาศยานจะใช้เวลาเพียง 30 นาทีซึ่งสามารถจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

ประเทศไทย มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินปีละ 35 ล้านครั้ง โดยโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือผ่านหมายเลข 1669 ปีละ 1 ล้านครั้ง และมีผู้ป่วยใช้บริการชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน 1.8 ล้านครั้งในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยวิกฤต 3 แสนครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่นำส่งทางบก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง