รมว.อุตฯ สั่งแก้ปัญหาเหมืองกระทบชาวบ้าน-สวล.

สิ่งแวดล้อม
29 ส.ค. 62
16:37
2,604
Logo Thai PBS
รมว.อุตฯ สั่งแก้ปัญหาเหมืองกระทบชาวบ้าน-สวล.
"สุริยะ" สั่งแก้ปัญหาผลกระทบเหมืองแร่ หลัง ส.ส.พรรคร่วม - ฝ่ายค้าน ทะยอยให้ข้อมูลชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนทั้งเหมืองเก่า และคำขอสำรวจใหม่ทับพื้นที่ชุมชน จี้ กพร.ชี้แจงข้อมูลภาพรวมการให้อนุญาตทำเหมือง-สำรวจแร่ใหม่ทั่วประเทศ หลังไม่รู้ข้อมูลชัดเจน

วันนี้ (29 ส.ค.2562) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม มอบนโยบายให้ข้าราชการกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ช่วงหนึ่งระบุว่า ขณะนี้ปรากฎว่ามี ส.ส.ในพื้นที่ทั้งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ได้พูดถึงข้อมูลที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ จึงได้มอบหมายให้ กพร.ไปดูแลเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบและด้วยความระมัดระวัง โดยประเด็นที่ได้รับแจ้งว่า ชาวบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องฝุ่น, เสียง โดยเฉพาะฝุ่นต่างๆ ไปรบกวนชาวบ้านได้รับผลกระทบมาก มีหลายจังหวัด นอกจากนี้ยังเป็นประเภทคำขอรอบใหม่ ที่ชาวบ้านมีความกังวลว่า หากเกิดเหมืองในอนาคตก็เกรงว่าจะส่งผลกระทบ

 

เมื่อสอบถามว่าจังหวัดใดบ้าง นายสุริยะระบุว่า มีหลายจังหวัด แต่ไม่อยากระบุ เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็นทางการเมือง  

นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับข้อมูลในพื้นที่หลายๆ แห่ง และจำนวนใบอนุญาตขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการอนุมัติจาก รมว.อุตสาหกรรม ไปเป็นระดับ อธิบดี กพร. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ 2560 ซึ่งทำให้ข้อมูลต่างๆ แทบไม่ได้รับทราบข้อมูลเหมือนเคย เพราะข้อมูลอยู่ที่ระดับอธิบดี โดยส่วนตัวไม่ทราบว่ามีข้อมูลอย่างไรบ้าง

นายสุริยะกล่าวด้วยว่า การมอบนโยบายวันนี้ให้ กพร. รัฐบาลยังมีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่ง กพร. มีภารกิจหลักเพื่อจัดหาวัตถุดิบป้อนภาคอุตสาหกรรม ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติ (Natural Raw Materials) , วัตถุดิบทดแทน (Secondary Raw Materials) , การรีไซเคิลขยะหรือของเสีย และวัตถุดิบขั้นสูง (Advanced Raw Materials)เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้าจากการใช้วัตถุดิบที่เพียงพอและมีคุณภาพ รวมทั้งวัสดุก่อสร้างรองรับโครงการก่อสร้างต่างๆ ของประเทศ การวิจัยและพัฒนา
การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่หลากหลาย

 

นอกจากนี้ ยังมีความต้องการขับเคลื่อนนโยบายเหมืองแร่สีเขียว ส่งเสริมสถานประกอบการและเจ้าหน้าที่ให้มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภายใน สถานประกอบการ และเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงส่งเสริมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประกอบกิจการ นำไปสู่การผลักดันอุตสาหกรรมแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ให้สามารถสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึึ่งเห็นหัวใจหลัก โดยเฉพาะถ้ามีเรื่องร้องเรียนก็ต้องแก้ปัญหา

 

 

ด้านนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ปัจจุบันประเภทแร่ที่มีความต้องการสูงนั้น จะเกี่ยวกับการขยายการลงทุนทั้งโครงการของรัฐ และโครงการเอกชน ซึ่งวัสดุก่อสร้างที่มาหินและปูนซีเมนตร์จะมีความต้องการสูงในตลาด ซึ่งปีนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแผนรองรับโครงการสำคัญของรัฐบาล เตรียมหาและจัดการแหล่งแร่ให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการใช้หินก่อสร้างประมาณ 120 ล้านตันต่อปี

ส่วนปูนซีเมนต์ที่ต้องการใช้ในประเทศมีความต้องการประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ซึ่งคำขอในพื้นที่ใหม่ ที่เกี่ยวกับพื้นที่สัมปทานที่ไม่เคยประกาศเป็นแหล่งแร่มาก่อน เพราะคำขอเดิมจะมีผู้ประกาศเดิมดำเนินการอยู่แล้ว  

สำหรับคำขออนุญาตสำรวจ หรือ ประทานบัตร ขณะนี้มีส่งเรื่องมาที่ กพร.แล้ว ประมาณ 40 แปลง เป็นแปลงขนาดไม่เกิน 300 ไร่ เป็นประเภทแร่หินก่อสร้าง, ดินขาว และแร่อื่นๆ ส่วนรายใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ส่วนคำขอสำรวจแร่ที่ จ.เพชรบูรณ์ 40,000 ไร่ ยังไม่มีคำขอเข้ามาที่ส่วนกลาง เรื่องยังติดค้างอยู่ที่ระดับอุตสาหกรรมจังหวัด

 

ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมือง นับว่ายังมีความจำเป็นที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายส่วนทั้งโรงงาน, ถนน, สาธารณะประโยชน์, สิ่งก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์ในตลาด ซึ่งเนื้อในมีแร่เป็นองค์ประกอบ ถ้าไม่เอาแร่มาผลิตเป็นสินค้า ก็จะไม่มีสินค้าพวกนี้ใช้ ไม่เช่นกันก็ต้องนำเข้าแร่แต่จะทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนสินค้า หรือปริมาณความต้องการมากๆ อย่างประเภทหินก่อสร้าง ถ้าไม่ผลิตเองก็ต้องซื้อจากต่างประเทศ แม้ว่าราคาหินจะถูกแต่ค่าขนส่งจะแพง 

ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันตราบใดที่คนไทยยังต้องการบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวัน ก็ต้องมีวัตถุดิบมาผลิตเป็นสินค้าเหล่านี้ 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์เหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา มีความเคลื่อนไหวคัดค้านประเด็นเหมืองแร่ทั้งคำขอสำรวจแร่รอบใหม่ และ เหมืองแร่ที่มีอยู่เดิมเกิดขึ้นแล้วหลายพื้นที่ เช่น

1.กลุ่มแรกชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร และภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ซึ่งคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ขนาดกว่า 3 พันไร่ ซึ่งร่วมกันเดินทางมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมหลายครั้ง เพื่อยื่นหนังสือและแสดงเจตนารมย์ว่า ไม่ต้องการเหมืองแร่ และยังเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่เดินหน้ายื่นเรื่องร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐ ทั้ง ป.ป.ช. / ดีเอไอ / สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบความผิดปกติของการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในหลายประเด็น

2.จ.พัทลุง กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคม คัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่หินปูน สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในพื้นที่ ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด เนื้อที่ 67 ไร่ ซึ่งเกิดเหตุการณ์กักตัวแกนนำในวันรับฟังความคิดเห็น ซึ่งนอกจากเรียกร้องให้ยกเลิกสัมปทานแล้ว ยังขอให้รัฐยกเลิกยุทธศาสตร์บริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ที่อนุญาตการประกอบกิจการแร่อุตสาหกรรม สามารถทำได้ในพื้นที่ แหล่งต้นน้ำได้ ซี่งขัดต่อ พระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2560 

3.จ.สระบุรี มีการรวมตัวของชาวบ้านและทนายความ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ขอคำสั่งระงับการทำเหมืองปูนซีเมนต์ ขนาด 3,200 ไร่ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการประกอบกิจการในพื้นที่ ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และและการประกอบกิจการใกล้วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ หน่วยงานเกี่ยวข้องยืนยันว่า จะไม่ให้มีการก่อสร้างในระยะ 2,000 เมตร 

4.จ.นครสวรรค์ กลุ่มชาวบ้านคัดค้านการทำเหมืองหินปูนของบริษัทเอกชน ในต.เขากะลา อ.พะยุหคีรี มีเนื้อที่ 297 ไร่ บนภูเขากะลา เพราะกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเห็นว่าในพื้นที่ใกล้เคียง มีเหมืองหินปูนเกิดขึ้นแล้ว 3 แห่ง และชาวบ้านไม่ได้เคยได้รับการเยียวยาเมื่อเกิดปัญหาร้องเรียน

5.จ.เชียงใหม่ เครือข่ายยุติเหมืองแร่อ.อมก๋อย คัดค้านการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน เพราะเกรงว่า จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่กว่า 6 พันคน โดยเป็นคำขอประทานบัตรครอบคลุมพื้นที่ 284 ไร่ ในตำบลอมก๋อย และเห็นว่าเหมืองถ่านหิน เป็นกิจการที่กอให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และภาวะเรือนกระจก โดยเสนอให้รัฐส่งเสริมด้านการใช้พลังงานทดแทน

6.จ.สุพรรณบุรี ชาวบ้านในอ.ด่านช้าง รวมตัวกันคัดค้านสัมปทานเหมืองแร่ควอซ์ เนื้อที่ 193 ไร่ โดยเห็นว่าพื้นที่คำขอสัมปทาน อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน / แหล่งต้นน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค และพื้นที่การเกษตร รวมทั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และรอยต่อเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย

7.จ.เพชรบูรณ์ ชาวบ้าน 4 อ.หนองไผ่, บึงสามพัน, เมือง และนาเฉลียง คัดค้านคำขอสำรวจแร่พื้นที่ 40,000 ไร่ ของบริษัทเอกชน หลังจากพื้นที่คำขอสำรวจ ทับซ้อน อ่างเก็บน้ำ, วัด, ชุมชน, พื้นที่เกษตร และเรียกร้องให้ อุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงข้อมูลเพื่อความชัดเจน

8.จ.ลำพูน ชาวบ้านอ.ป่าซาง รวมตัวคัดค้านคำขอสัมปทานทำเหมืองหินปูน 200 ไร่ พร้อมขอประชามติและพบว่า 90 % ไม่เห็นด้วย เพราะกังวลปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัย รวมถึง หากมีการระเบิดเกรงจะกระทบต่อสวนลำไยที่ปลูกกันในหลายพื้นที่

9.จ.ลพบุรี ชาบ้านรวมตัวคัดค้านคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ดินขาว จำนวน 107 ไร่ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอยู่ใกล้ชุมชน

10.จ.หนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันได ร่วมคัดค้านการประชุมสภา อบต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา ซึ่งประชุมวันที่ 14 มิ.ย.2562 สอดแทรกบรรจุการพิจารณาลงมติต่อใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่หินปูน ชนิดอุตสาหกรรมก่อสร้าง บนภูผาฮวก เนื้อที่กว่า 175 ไร่ และสร้างที่กองเก็บแร่ ที่ตั้งโรงโม่ อีก 50 ไร่ เป็นเวลา 10 ปี ในช่วง 2563 - 2573 ผู้คัดค้านเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเร่งรีบ ขอให้มติดังกล่าวเป็นโฆฆะ

11.จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านในนามกลุ่มคนเหล่าไฮงาม ไม่เอาเหมืองแร่ ร่วมคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว พร้อมขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่าการขอประทานบัตรเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยมีข้อกังวลในการทำเหมืองใกล้พื้นที่ชุมชน จะมีผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เช่น ปัญหาจากฝุ่น, การใช้น้ำ, การคมนาคม, การจัดการของเสียจากการผลิต, การรับผิดชอบกรณีการเกิดผลกระทบต่อประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง