ในวันที่ไม่มีข่าว “ความหลากหลายทางเพศ” คือวันที่ทุกคนเท่ากัน

สังคม
30 ส.ค. 62
16:00
8,471
Logo Thai PBS
ในวันที่ไม่มีข่าว “ความหลากหลายทางเพศ” คือวันที่ทุกคนเท่ากัน
ไทยพีบีเอส ชวนพูดคุยกับ "กิตตินันท์ ธรมธัช" นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กับการผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยที่ก้าวมาไกลแต่ยังไม่ถึงปลายทาง

วันนี้ (29 ส.ค.2562) ในวันที่ประชาคมโลกเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT และมีการรับรองจากสถาบันและองค์กรระดับโลกอย่าง WHO ที่ประกาศว่า ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่อาการป่วย แต่ที่ผ่านมา คนหลากหลายทางเพศทั้งในประเทศไทย และอีกหลายๆ ประเทศในเอเชีย ยังต้องต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่แท้จริง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ คุยกับ "กิตตินันท์ ธรมธัช" นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสถานการณ์การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชนของคนหลากหลายทางเพศ

กิตตินันท์เปิดเผยว่า แม้สังคมจะเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ขณะนี้เครือข่ายต่างๆ รวมถึงสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ได้ต่อสู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ จนนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกัน แต่ปัญหาที่ยังต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ กฎหมาย

เมื่อกฎหมายไม่มี ศักดื์ศรีก็ไม่มา เราก้าวผ่านคำว่าวิปริต มาได้แล้ว และเริ่มได้รับสิทธิมนุษยชนต่างๆ แต่กฎหมายของเรายังไม่มี นี่เป็นปัญหาสำคัญ

Thailand Paradise of LGBT?

ประเด็นที่น่าสนใจระหว่างการพูดคุยกับ กิตตินันท์คือ ต่างชาติยังมองว่าประเทศไทยเป็นเหมือนสวรรค์ของคนหลากหลายทางเพศ เพราะได้รับการสื่อสารผ่านการใช้ชีวิตที่อิสระ ไม่มีบทลงโทษที่น่ากลัวเหมือนบางประเทศ แต่เมื่อเขาได้มาสัมผัสอาจต้องตกใจ ที่ประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศเลย

ในอนาคตถ้ามีเด็กคนหนึ่งที่ใช้หัวเดินแทนขา กฎหมายก็ต้องออกมาเพื่อคุ้มครองเขานะ แม้จะเป็นเด็กเพียงแค่ 1 คน แต่ LGBT ที่มีถึง 10 % ของประชากร หรือประมาณ 7 ล้านคนในไทย ทำไมเราถึงไม่มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองเลย แม้แต่ฉบับเดียว

นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย คือ หนึ่งในผู้ผลักดันกฎหมายเพื่อคนหลากหลายทางเพศ ยืนยันว่า การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ก้าวมาได้ถึงร้อยละ 70 แล้ว แต่เรื่องกฎหมายต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก อย่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ได้เริ่มผลักดันตั้งแต่ปี 2550 และต้องใช้เวลาถึง 8 ปี กว่าจะออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ยังขาด พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2555 ก็ออกมา 5 ร่างแล้ว


ส่วนการเพิ่มความรู้ความเข้าใจของสังคม ก็ได้มีการผลักดันปรับหลักสูตรแบบเรียนสุขศึกษาและพลศึกษาตั้งแต่ชั้น ป.1 ในส่วนที่เป็นเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศทุกมิติ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ

เรามาไกลแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงปลายทาง
ภาพ : แดนนี่ เดอะบีช

ภาพ : แดนนี่ เดอะบีช

ภาพ : แดนนี่ เดอะบีช


กิตตินันท์ ระบุว่า การผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมชาย-หญิง หลักการทางศาสนา คนกำหนดนโยบาย รวมถึง LGBT ด้วยกันเอง เพราะสิ่งสำคัญคือการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่าง LGBT ด้วยกันเอง ก็ยังคงมีความเห็นต่างกันในบางเรื่อง ซึ่งต้องมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ

อย่างกรณีกลุ่มที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว กับผู้ที่ยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศ ก็จะต้องพูดคุยกันให้ชัดเจน ก่อนจะออกมาเป็น พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพได้

สังคมชาย - หญิง เราต้องให้สิทธิในการรับรู้และตัดสินใจเช่นกัน หากมี LGBT ที่แปลงเพศแล้ว และไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นเพศอะไร และมีคำนำหน้าเป็นนางสาว แล้วมีผู้ชายคนหนึ่งที่ถึงไม่ได้รังเกียจ LGBT แต่อยากมีลูก สุดท้ายพอแต่งงานแล้วมีลูกกันไม่ได้ โดยที่เขาไม่รู้มาก่อน ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิเขาด้วยหรือเปล่า เราต้องคิดถึงตรงนี้ด้วย

ส่วนหลักเกณฑ์ทางศาสนา อย่างศาสนาอิสลามที่ยอมรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตได้ แต่ไม่ยอมรับ กฎหมายสมรสได้ เพราะกำหนดไว้ชัดเจนว่า การแต่งงานต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น อย่างนี้ก็ต้องทำความเข้าใจด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ทางศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรคำนึงถึง

อนาคตใหม่จุดเริ่มต้นเพื่อปลายทางที่ชัดเจน

เมื่อสอบถามถึงปรากฏการณ์การขับเคลื่อนด้านนโยบายเพื่อคนหลากหลายทางเพศของพรรคอนาคตใหม่ กิตตินันท์ ระบุว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะสร้างหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะส่วนตัวมองว่าการจะขับเคลื่อนนโยบายความหลากหลายทางเพศ คนที่ออกแบบนโยบายก็ควรจะเป็นคนหลากหลายทางเพศ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจในบริบทต่าง ๆ มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นคนหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้ได้ เพราะ ส.ส.จากพรรคการเมืองหลายพรรค ต่างก็เห็นด้วยกับการผลักดันเรื่องนี้

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

มองว่ามันเป็นเกมการเมืองมากกว่า คือ พรรคอนาคตใหม่เสนอเรื่องตั้งคณะกรรมาธิการผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเหมือนเป็นเจ้าของนโยบาย ขณะที่พรรคอื่นอาจมีคนที่เห็นด้วย แต่ต้องเคารพมติพรรค ที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงทำให้การตั้งคณะกรรมาธิการฯ ไม่สำเร็จ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นผลงานของพรรคใดพรรคหนึ่ง

แม้การตั้งคณะกรรมาธิการผู้มีความหลากหลายทางเพศจะไม่สำเร็จ เนื่องจากแพ้โหวตในสภา แต่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนด้านนโยบายและทำให้ปลายทางของความเท่าเทียมทางเพศเด่นชัดมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุการเช่นนี้ก็ทำให้กังวลเช่นกันว่า หาก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านกฤษฎีกาและเข้าไปในสภา แล้วยังมีเกมการเมืองเช่นนี้อยู่ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการผลักดันกฎหมายที่เป็นหัวใจสำคัญของความเท่าเทียม

หน้าที่ของสื่อกับการสร้างความเข้าใจและเข้าถึง

ถ้าเราผลักดันความหลากหลายทางเพศสำเร็จ ข่าว LGBT จะหายไป จนแทบหาอ่านไม่ได้ นักข่าวก็ไม่จำเป็นต้องมาสัมภาษณ์ คนหลากหลายทางเพศก็ไม่จำเป็นต้องออกมาต่อสู้ เพราะทุกคนเท่าเทียมกันหมด ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน

นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เสนอมุมมองให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ฟังว่า ปัจจุบันสื่อต่างๆ ในประเทศแถบยุโรปแทบจะไม่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ หรือการต่อสู้ของ LGBT เลย เพราะทุกคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา ทุกคนยอมรับ และเข้าใจความเท่าเทียม ขณะที่ในประเทศแถบเอเชีย อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน หรือแม้แต่ไต้หวัน หรือไทยเอง ยังคงมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการต่อสู้ของ LGBT ข่าวความภาคภูมิใจและความสำเร็จจากการผลักดันกฎหมายอยู่ เพราะยังไม่มีความเท่าเทียมที่แท้จริง


สื่อเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้สังคมเกิดความเข้าใจว่า LGBT มีอยู่บนโลกใบนี้ และเป็นมนุษย์ปกติทั่วไป และสร้างความเข้าถึงโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นข้อมูลจริงมาช่วยสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและสร้างความเชื่อให้สังคมได้อย่างแท้จริง เพราะสื่อเป็นสื่อกลางที่สามารถสื่อสารกับทุกคนได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องนำเสนอให้ครบทุกมิติ ฟังเสียงของประชาชนคนในสังคมทุกคน เพื่อการอยู่ร่วมกันของสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง

การนำเสนอข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจสู่ความเท่าเทียม

ไทยพีบีเอสได้รวบรวมข่าวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2561 - 2562 บางส่วน ทั้งการรายงานข่าวสถานการณ์การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ในส่วนของต่างประเทศนั้น ได้มีการรายงานการต่อสู้เพื่อผลักดันกฎหมายแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การต่อต้านการลงโทษ “ประหารชีวิต” ของคนรักเพศเดียวกัน รวมถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในงานเทศกาลต่างๆ เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศของประชาคมโลก

ส่วนข่าวในประเทศนั้น ไทยพีบีเอสได้นำเสนอเกี่ยวกับการผลักดันกฎหมายสมรม เจาะลึกถึงนโยบายสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมในการสมรส รวมถึงข้อเรียกร้องในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของกลุ่มความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง พร้อมนำเสนอการต่อสู้เพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันของกลุ่มความหลากหลายทางเพศทุกภาคส่วน ทั้งการเรียกร้องสิทธิของเครือข่ายครูหลากหลายทางเพศ รวมถึงกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ผลักดันเรื่องการแต่งกายในสภา และการตั้งคณะกรรมาธิการผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังได้ร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศผ่านการนำเสนอข่าวในประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง อย่างกรณีแบบเรียนเด็กชั้นประถมศึกษาซึ่งได้มีการนำเสนอข่าวเพื่อสะท้อนปัญหาและสร้างความเข้าใจ พร้อมร่วมผลักดันจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมจนเกิดการทบทวนกรอบเนื้อหาเพศวิถีศึกษาและสุขภาวะทางเพศ ในหนังสือเรียนสุขศึกษาและพลศึกษา นำไปสู่การเพิ่มเติมแก้ไขตำราแบบเรียนสุขศึกษาและพลศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ชั้น ป.1 - ม.6 ทั้งหมด 12 ชั้นเรียน ในส่วนที่เป็นเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศทุกมิติ

โดยมีลิงก์ข่าวที่นำเสนอมาแล้ว ดังนี้

เต้นประท้วง "ทรัมป์" เรียกร้องสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศ

ผลลงประชามติ "ไต้หวัน" ไม่หนุนคนเพศเดียวกันแต่งงาน

"ไต้หวัน" จัดพิธีสมรสคู่รักเพศเดียวกันครั้งประวัติศาสตร์ในเอเชีย 

ตำรวจ "คิวบา" สลายการชุมนุมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

ไต้หวันผ่านกฎหมายอนุญาต "คนรักเพศเดียวกัน" แต่งงาน

เตือนคนไทยไป "บรูไน" อย่าทำผิด กม.เสี่ยงโทษหนักปาหิน-แขวนคอ 

สหรัฐฯ ชี้บทลงโทษ กม.ของบรูไนขัดหลักสิทธิมนุษยชน

วิเคราะห์ "บรูไน" เพิ่มบทลงโทษตามกฎหมายอิสลาม 

"บรูไน" ระงับโทษประหารชีวิต "คนรักเพศเดียวกัน" 

เจาะนโยบายกลุ่มหลากหลายทางเพศ กับข้อเรียกร้องความเท่าเทียม

ร้องยกเลิกแบบเรียนสุขศึกษามีเนื้อหาอคติทางเพศ

สำเร็จ! บรรจุหลักสูตร “ความหลากหลายทางเพศ” ตั้งแต่ ป.1 

เครือข่ายครูหลากหลายทางเพศ ร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ช่วยครูข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติ 

สื่อกับการเสนอข่าวความหลากหลายทางเพศ 

สังคมไทยยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น 

สิทธิแต่งกาย ตามเพศสภาพ

สีสัน ส.ส. รวมตัวรัฐสภาใหม่ 

"ธัญวัจน์" แปลกใจถูกวิจารณ์หนักแต่งกายตามเพศสภาพ 

ขอแก้กฎหมายสมรสกลุ่มหลากหลายทางเพศ

สภาฯ เห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ปี 2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง