ค้านสร้างคอนโดฯ 30 ชั้น ห่างวัดโพธิ์แมนคุณาราม เพียง 20 เมตร

สังคม
29 ส.ค. 62
21:17
3,863
Logo Thai PBS
ค้านสร้างคอนโดฯ 30 ชั้น  ห่างวัดโพธิ์แมนคุณาราม เพียง 20 เมตร
ชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียงวัดโพธิ์แมนคุณาราม เขตยานนาวา ค้านก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมสูง 30 ชั้น ที่ห่างจากวัดเพียง 20 เมตร หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อมและสิ่งก่อสร้างภายในวัดอาจได้รับความเสียหาย

วันนี้ (29 ส.ค.2562) นายเศรษฐพงษ์ จงสงวน คณะกรรมการวัดโพธิ์แมนคุณาราม เขตยานนาว กทม. เป็นสถาปนิกและนักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนามหายานและวัฒนธรรมจีน ร้องทุกข์กับทีมข่าวรายการสถานีประชาชนว่า บริษัทเอกชนรายหนึ่งเตรียมก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง 30 ชั้น 370 ห้อง และอาคารสำนักงาน 1 อาคาร สูง 22 ชั้น โดยมีพื้นที่ก่อสร้างติดกับวัดโพธิ์แมนคุณาราม สถาปัตยกรรมไทยจีน ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 อายุกว่า 60 ปี อาจได้รับผลกระทบ เพราะตัวอาคารอยู่ห่างจากวัดไม่ถึง 20 เมตร โดยเฉพาะบริเวณอาคารโพธิ์แจ้งมหาเถรานุสรณ์ ซึ่งเป็นอาคารสำหรับบรรจุอัฐิดวงวิญญาณบรรพบุรุษจะอยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้างมากที่สุด

 

 
ขณะนี้ทางวัดและชาวบ้าน ได้ทำหนังสือถึง ผอ.เขตยานนาวา , ผู้ว่าราชการ กทม. และ คณะกรรมการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ให้พิจารณาผลกระทบให้รอบด้านก่อนอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง

 

 
ด้านสำนักงานเขตยานนาวา ให้ข้อมูลว่า อาคารดังกล่าวยังไม่ได้มีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคารแต่อย่างใด ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ หรือ EIA

 


การพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร แต่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักการโยธาเป็นผู้พิจารณาอนุญาต   อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการวัดและชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงวัดโพธิ์แมนคุณาราม จะเดินหน้าคัดค้านการก่อสร้างคอนโดมิเนียมนี้อย่างเต็มที่

 
วัดโพธิ์แมนคุณารามสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 โดยพระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเป็นผู้นำในการก่อสร้างพร้อมกับคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คหบดี ประชาชน และพุทธบริษัท โดยใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 10 ปี เมื่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรเจดีย์อุโบสถ และในปีต่อมาพระองค์พระราชทานพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประดิษฐานที่หน้าอุโบสถของวัด และพระราชทานนามพระประธานในอุโบสถว่า ‘พระพุทธวัชรโพธิคุณ’

ข่าวที่เกี่ยวข้อง