"พายุโซนร้อนคาจิกิ” เคลื่อนเข้าจีน-หางเลข พท.อีสาน 3-4 ก.ย.

ภัยพิบัติ
2 ก.ย. 62
15:02
8,840
Logo Thai PBS
 "พายุโซนร้อนคาจิกิ” เคลื่อนเข้าจีน-หางเลข พท.อีสาน 3-4 ก.ย.
กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุ 3-4 ก.ย.นี้ รับมือ“พายุโซนร้อนคาจิกิ” ไม่เข้าไทยโดยตรง แต่กระทบจังหวัดภาคอีสานอีกระลอก โดยเฉพาะ 4 จังหวัดน้ำท่วมเดิม คือ จ.นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เตรียมรับฝนตกเฉลี่ย 50-100 มิลลิเมตรต่อวัน ส่วนต.ค.-ก.ย.ไทยยังเสี่ยงพายุอีก

วันนี้ (2 ก.ย.2562) นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้พายุลูกใหม่ที่พัฒนาตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ได้พัฒนาเป็นดีเปรสชัน ระดับ 2 และมีจุดศูนย์กลางใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีน และมีทิศทางมุ่งหน้าเข้าทางชายฝั่งเวียดนามมากขึ้น เบื้องต้นในช่วงบ่ายวันนี้ มีแนวโน้มที่พัฒนาเป็นพายุระดับ 3 หรือโซนร้อน โดยมีการตั้งชื่อว่าพายุโซนร้อนคาจิกิ ซึ่งเป็นชื่อที่ญี่ปุ่นตั้งชื่อไว้มีความหมายว่าปลาทะเลที่สวยงาม 

โดยวันจะเริ่มมีผลกระทบกับจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานฝั่งตะวันออกก่อน ตั้งแต่ จ.บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ และวันพรุ่งนี้( 3 ก.ย.) ทั้งภาคอีสานจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลทั้งหมด ซึ่งรวมถึงและพื้นที่ภาคใต้จะทำให้แถวระนอง พังงา ภูเก็ต ระนอง จันทบุรี ตราดได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากมีอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมีร่องฝนเคลื่อนลงไปพาดผ่าน ทำให้มีฝนตกหนัก

ชี้ภาคอีสานเสี่ยงรับฝนตกระลอกใหม่-ท่วมซ้ำ

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ พบว่าพายุลูกนี้ไม่น่าจะมีทิศทางพุ่งเข้ามาที่ประเทศไทยโดยตรง เพราะเส้นทางของพายุแม้จะขยับมา แต่ยังอยู่ห่าง และจะเลื่อนเข้าให้ชายฝั่งและมีโอกาสที่จะวกกลับไป และมีความเย็นจากจีนกดไว้จะทำให้อ่อนกำลังลง

ถ้าพายุม้วนขึ้นไปด้านบนจะเข้ามณฑลกวางตุ้ง ของจีน แต่ถ้าวกลงมาข้างล่างจะไปฮ่องกง แต่จากการคำนวณของกรมอุตุนิยมวิทยา ทิศทางของพายุโซนร้อนลูกใหม่ น่าจะเคลื่อนจะไปทางจีนตอนใต้ หรือมณฑลกวางตุ้งมากกว่า ไม่ได้มีทิศทางเข้าไทย 

นายภูเวียง กล่าวว่า แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เคลื่อนเข้าทิศทางมาไทยโดยตรง แต่คาดว่า 4 จังหวัดภาคอีสานที่น้ำท่วมเดิม คือนครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ที่มีปัญหาเดิมน่าจะเสียงน้ำท่วมซ้ำ โดยคาดการณ์ว่าวันพรุ่งนี้ (3 ก.ย.) จะมีฝนตกเฉลี่ยมากกว่า 50-100 มิลลิเมตรต่อวัน ถือว่าน้อยกว่าพายุโพดุลที่ทำให้มีฝนตกมากกว่า 100-200 มิลลิเมตรต่อวัน ความรุนแรงจะแตกต่างกัน

ถึงแม้ฝนจะเริ่มหยุดตกช่วงวันที่ 4 ก.ย.นี้ แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องจากมีน้ำค้างบนเทือกเขา และอาจจะไหลบ่าลงมาจึงต้องเฝ้าระวังถึงวันที่ 5 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ไทยยังมีโอกาสเจอพายุเข้ามา ซึ่งจากสถิติ 10 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เฉพาะเดือนก.ย.ที่มีสถิติพายุประมาณ 10 ลูก ส่วนเดือน ต.ค.ประมาณ 15 ลูก ดังนั้น 2 เดือนนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีพายุเข้ามา  

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน 57 จังหวัด รับมือ "ดีเปรสชัน" 2-4 ก.ย.นี้

"ดีเปรสชัน" ลูกใหม่เพิ่มความเสี่ยงจังหวัดริมโขงท่วมซ้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง