"ศักดิ์สยาม" สั่งเร่งประมูลรถไฟไทย-จีน ภายในสิ้นปี

เศรษฐกิจ
2 ก.ย. 62
18:43
1,976
Logo Thai PBS
"ศักดิ์สยาม" สั่งเร่งประมูลรถไฟไทย-จีน ภายในสิ้นปี
รมว.คมนาคม สั่งเร่งประมูลงานก่อสร้างรถไฟไทย-จีน 1.79 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ พร้อมขยายกรอบวงเงินเป็น 50,000 ล้านบาท

วันนี้ (9 ก.ย.2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (คบร.) ครั้งที่ 5 ว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา กระทรวงคมนาคมเตรียมปรับแผนโครงการ ด้วยการขยายระยะเวลาสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร ที่จะต้องลงนามกับรัฐบาลจีนออกไปอีก 2 เดือน เนื่องจากยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่ต้องเจรจาร่วมกัน โดยจะต้องเจรจาให้แล้วเสร็จพร้อมลงนามภายในเดือน พ.ย. ก่อนการจัดงานประชุมอาเซียนซัมมิทที่ประเทศไทย ซึ่งจะมีผู้นำรัฐบาลจีนเข้าร่วมด้วย


นอกจากนี้ ยังมีการขยายกรอบวงเงินสัญญา 2.3 จากเดิม 38,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การโยกงบก่อสร้างมาใช้ในสัญญางานระบบ 7,000 ล้านบาท การเปลี่ยนรุ่นตัวรถไฟไฮสปีดเป็นรุ่นใหม่ 3,400 ล้านบาท และการปรับรูปแบบรางบางส่วนอีกราว 1,600 ล้านบาท

ขณะที่ตัวรถไฟไฮสปีด จะมีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากรุ่นเดิม เป็นรุ่นที่ถือว่าใกล้จะตกรุ่นในจีน เปลี่ยนเป็นรถไฟเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Fuxing เพราะสามารถรองรับผู้โดยสาร 594 คน/ขบวน มีเสียงดังขณะเคลื่อนที่ 1-3 เดซิเบล ใช้ความเร็ว 250 กม./ชม.

ส่วนการเปิดประมูลงานก่อสร้างนั้น จะให้เปิดประมูลภายในเดือน ธ.ค.นี้ ทั้ง 14 สัญญา มูลค่ารวม 179,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถเปิดใช้ตามกำหนดในปี 2566 เพราะขณะนี้รถไฟไฮสปีด สปป.ลาว-จีน ก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว


จากการรายงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) พบว่า ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างการเห็นชอบผลประมูล 5 สัญญาและอยู่ระหว่างเปิดประมูล 5 สัญญา ส่วนสัญญาที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประมูลเพราะติดปัญหามี 2 สัญญา ได้แก่

1.สัญญางานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงที่เชียงรากน้อย วงเงิน 6,100 ล้านบาท โดยสั่งการเร่งรัดให้ประมูลภายในเดือน ก.ย.นี้

2.งานก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ต้องชะลอการประมูลออกไปเป็นช่วงไตรมาสุดท้ายของปี 2562 เพื่อรอเจรจากับกลุ่มซีพี เนื่องจากต้องใช้โครงสร้างเดียวกันกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ทั้งนี้คาดว่าโครงการรถไฟไฮสปีดอีอีซีจะลงนามได้ในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบวงเงินโครงการจัดจ้างเอกชนศึกษาออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มูลค่า 751 ล้านบาทโดยกำหนดระยะเวลาศึกษา 19 เดือน ซึ่งปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเตรียมเอกสารดำเนินการจ้างที่ปรึกษา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กล่าวถึงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อเชื่อมโยงด้านรถไฟไทย-ลาว-จีน

 

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน (คบร.) ยังมีข้อห่วงใยในส่วนของปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ ได้แก่ การมอบหมายให้ รฟท.ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. ... เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนที่ รฟท. จะดำเนินการเวนคืนที่ดินและจัดกรรมสิทธิ์ต่อไป โดยมีเป้าหมายจำนวนกว่า 2,800 ไร่ วงเงิน 13,000 ล้านบาทและมอบหมายให้ไปพิจารณาพื้นที่ในจำนวนดังกล่าว เพื่อทำประโยชน์ให้กับประชาชน อาทิ พัฒนาเป็นพื้นที่เคหะฯ

ขอความอนุเคราะห์กองทัพบกในการจัดตั้งสำนักงานและการใช้พื้นที่สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยกำหนดกรอบเวลาให้ รฟท.สรุปภายใน 1 เดือน และขอให้เร่งพิจารณาผลการประกวดราคา ให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยได้สั่งการให้ รฟท.ตรวจผลงานและเอกสาร ก่อนที่จะประกาศผล เพื่อไม่ให้เสียเวลาหากมีข้อท้วงติง

รวมถึงให้ตั้งคณะกรรมการเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อให้ได้ข้อยุติของสัญญา 2.3 ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างฉบับสุดท้าย หลังจากมีความกังวลใน 12 ข้อ ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง