สศก.ประเมินภัยแล้ง-น้ำท่วมฉุดจีดีพีภาคเกษตร

เศรษฐกิจ
3 ก.ย. 62
11:50
2,555
Logo Thai PBS
สศก.ประเมินภัยแล้ง-น้ำท่วมฉุดจีดีพีภาคเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วม ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายทั้งพืชและสัตว์ ฉุดจีดีพีภาคเกษตรขยายตัวลดลงจากเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 - 3 เหลือเพียงร้อยละ 2

สศก.ประเมินน้ำท่วมฉุดจีดีพีภาคเกษตรเหลือ2%

วันนี้ (3 ก.ย.2562) น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุโพดุล ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสำรวจความเสียหายที่ชัดเจนหลังน้ำลดรวมทั้งผลกระทบจากพายุลูกใหม่ทาจิกิ ที่เข้าไทยวันนี้

จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า จะกระทบพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในหลายจังหวัดภาคอีสานเสียหาย ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงจากก่อนหน้าที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาที่เสียหายหลายแสนไร่ แต่เชื่อว่าข้าวเพื่อการบริโภคจะไม่ขาดแคลน แต่ข้าวเพื่อการส่งออกอาจจะมีปริมาณลดลงและราคาสูงขึ้นเพราะผลผลิตน้อย

จากน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งในปีนี้ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงข้าวเพื่อการบริโภคยังไม่ขาดแคลนแต่ข้าวเพื่อการส่งออกจะมีปริมาณลดลงและมีราคาสูง

ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ผลผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนข้าวเหนียวอยู่ที่ 5-6 ล้านตันข้าวเปลือก

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

 

ทั้งนี้ สศก.ประเมินว่า จากผลผลิตข้าวที่ลดลงทั้งจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม จะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ทำให้การปลูกข้าวฤดูกาลหน้า เกษตรกรจะปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวที่มีราคามากขึ้น โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่มีราคาสูงในปีนี้

สำหรับแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร หรือ GDP สินค้าเกษตร ในปีนี้ สศก.คาดการณ์ว่าจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม จะส่งผลให้ GDP ภาคเกษตร จะขยายตัวเพียงร้อยละ 2 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 - 3 และชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 4.6

รมว.เกษตรฯ ห่วงพื้นที่ "คาจิกิ" ผ่าน

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ยังมีสถานการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุ "โพดุล" และน่าเป็นห่วงพายุลูกใหม่ "คาจิกิ" เป็นโซนร้อนระดับ3 กำลังส่งผลต่อประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระหว่างวันที่ 3-4 ก.ย.ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยสั่งย้ำให้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นวิกฤติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังเป็นแนวอิทธิพลของพายุลูกใหม่ ให้เร่งระดมสูบระบายน้ำ เปิดทางน้ำไหลออกจากพื้นที่ทั้งเขตตัวเมืองและพื้นที่การเกษตร ลงสู่ลุ่มน้ำต่างๆเพื่อผลักดันออกแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด

รวมทั้งระบายน้ำเหนือจากพื้นที่ตอนบนสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาลงอ่าวไทยลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มริมฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ จ.อ่างทองและ จ.พระนครศรีอยุธยา คุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 700 ลบ.ม.ต่อวินาทีและรองรับฝนรอบใหม่

กรมชลฯเร่งระบายน้ำ

นายทองเปลว ทองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการสำนักชลประทานทั่วประเทศ ทุกพื้นที่เตรียมพร้อมตลอด 24 ชม.รับสถานการณ์พายุลูกใหม่ "คาจิกิ" ทำให้ต่อประเทศไทยมีฝนตกหนักมากทั่วทุกภาค โดยให้เฝ้าระวังพิเศษพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำท่วมอยู่แล้ว หากเข้าแนวเดิมจากพายุโพดุล ได้สั่งให้ทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง เร่งสูบออกจากพื้นที่ท่วมขัง ถ้าฝนใหม่มาเติม จะทำให้สถานการณ์ท่วมไม่มาก พร้อมให้กำลังเจ้าหน้าที่ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย

พื้นที่วิกฤติ จะมี จ.อุบลราลธานี จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว ได้เพิ่มเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ขณะนี้ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมยัง ทรงตัวอยู่ ไม่ได้ลดลงเท่าไหร่ โดยดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพราะฝนตกติดต่อกันและเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะมีฝนเติมอีก ถือเป็นจุดวิกฤติอาจมีฝนตกหนักมากกว่า50-100 มม. ทุกหน่วยงานเข้าแจ้งเตือนชาวบ้านต่อเนื่องทุกวัน 


อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลุ่มน้ำก่ำ ลุ่มน้ำสงคราม ขณะนี้สามารถเร่งระบายลงแม่น้ำโขงได้ ซึ่งเครื่องผลักดันน้ำมาช่วยทำให้เร็วขึ้น เพราะลำน้ำต่อกัน ส่งผลการไหลดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ฝนตกหนักกระจายหลายจังหวัด การดึงน้ำไประดับออกไปได้ทำให้สถานการณ์น้ำทรงตัว ไม่ท่วมมากกว่านี้ถือว่าดีเป็นผลพวงการทำงาน ที่ได้ทำเชิงรุกมาทุกพื้นที่

ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำห้วยสีทน จ.กาฬสินธุ์ เป็นอ่างขนาดกลาง จุน้ำกว่า 3 ล้าน ลบ.ม.ยังมีน้ำล้นสปิลเวย์ ระบายออกจากทางน้ำล้น ก่อนหน้าที่จะมีฝนตกหนักมีน้ำเพียงร้อยละ 20

ขณะนี้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมีระดับน้ำสูงกว่าช่องทางน้ำล้นกว่า 1 ม.ถ้าฝนมาใหม่ ระดับน้ำอาจสูงถึงระดับสันเขื่อนจะไม่ปลอดภัย จึงมีมาตรการเสริมเพิ่มกาลักน้ำเข้าไปช่วยระบายน้ำออกจากอ่างห้วยสีทน เพื่อรองรับฝนใหม่ด้วย โดยระบายน้ำ-ออก ผ่านลงลำน้ำพื้นที่เกษตร และส่งผลเขตชุมชน ตัวเมือง น้ำทรงตัวยันกันหมด ทำให้น้ำท่วมอยู่แล้วยังไม่ยุบจึงเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำดึงน้ำทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

นอกจากนี้จากฝนตกหนักส่งผลให้เขื่อนขนาดกลาง จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร มีน้ำมากระบายน้ำทางน้ำล้นสปิลเวย์ เป็นการไหลออกตามธรรมชาติเพราะน้ำเข้ามามากจึงออกมากไม่ตั้งใจระบายออก

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าในส่วนลุ่มเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิมระบายอยู่ที่ 424 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 480 ลบ.ม.ต่อวินาที รับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากเดิม 140 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 170 ลบ.ม.ต่อวินาที และฝั่งขวาจากเดิมรับน้ำจากเดิม 230 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 260 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดซึ่งได้กำชับว่าการเพิ่มปริมาตรการระบายต้องไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

กรมปศุสัตว์ช่วยอพยพฟื้นฟูสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า รมว.เกษตรฯ สั่งให้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย สำรวจความเสียหายในเบื้องต้นจัดหาพืชอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ ช่วยอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่น้ำท่วมและฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ โดยการช่วยเหลือช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง 

สำหรับพื้นที่เสียหายเป็นเงินหรือปัจจัยการผลิตสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ให้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือท่อนพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือจ่ายเป็นค่าพันธุ์พืชอาหารสัตว์ครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน สำหรับการช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย จะชดเชยตามที่เสียหายจริงซึ่งกำหนดอัตราส่วนตามอายุสัตว์ 

-โคอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 20,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว กระบืออายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 22,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว

-สุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 3,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัว

-ไก่ไข่อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 80 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว

-ไก่เนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว

-เป็ดไข่และเป็ดเนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว 

กรมประมงสำรวจผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่ามาตรการเฉพาะหน้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ประสบภัยว่า เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากเกิดผลกระทบหรือความเสียหายด้านประมงให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ให้หน่วยงานของกรมประมงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำ อวน กระชัง และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันทีที่ได้รับการร้องขอเพื่อขนย้ายหรือจับสัตว์น้ำออกจำหน่าย จัดเตรียมเรือตรวจการประมง รถยนต์พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ประมงไว้ประจำหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่เกษตรกร และจัดเตรียมพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ไว้ช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า

 

สำหรับการช่วยเหลือหลังน้ำลดให้สำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ พิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอนุมัติได้ 20 ล้านบาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นปัจจุบันแล้ว

ทั้งนี้หากหน่วยงานใดเงินงบประมาณแก้ไขปัญหาเร่งด่วนไม่เพียงพอสามารถขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งอนุมัติได้ 50 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง