หลาก “รอยร้าว” ฝ่ายค้าน ประชาชนได้อะไร

Logo Thai PBS
หลาก “รอยร้าว” ฝ่ายค้าน ประชาชนได้อะไร
ก่อนเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ปมปัญหาคำถวายสัตย์ฯ และการแถลงนโยบายรัฐบาล ที่ยังถกเถียงกันทั้งวันเวลาและรูปแบบว่าจะลับหรือไม่ลับ 7 พรรคฝ่ายค้านผู้ยื่นญัตตินี้ กลับมีเหตุสะท้อนเอกภาพที่ไม่มั่นคงนัก

การยื่นญัตติอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 จะมีโอกาสเพียงครั้งเดียวต่อปี อาจไม่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล แต่เมื่อฝ่ายค้านใช้เครื่องมือนี้ ย่อมเห็นว่าน่าจะเปิดแผลรัฐบาลได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเป้าหมายใหญ่ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

วิวาทะที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างสองขั้วในสภา คือ นายกฯ ต้องมาตอบเองหรือไม่ ด้วยหมายงานภารกิจมากมาย และการไปสภาเพื่อชี้แจงดูไม่ถูกจัดอยู่ในลำดับแรก ๆ

ประเด็นที่สอง คือ หากศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน การอภิปรายเสี่ยงถูกมองว่าชี้นำหรือก้าวล่วงอำนาจศาล

และสุดท้าย “ประเด็นละเอียดอ่อน” ส่งผลต่อรูปแบบการอภิปราย และแม้จะจัดประชุมลับ แต่ใครพูดสิ่งใดไว้ ย่อมเลี่ยงความรับผิดชอบได้ยาก

แต่วิวาทะในห้วงที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดระหว่างการเมืองสองขั้วเท่านั้น ภายใน 7 พรรคฝ่ายค้านมีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนภาพรอยร้าว เช่น เมื่อวันที่ 1 กันยายน พรรคอนาคตใหม่ จัดประชันวิสัยทัศน์ชิงเป็นตัวแทน ลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ระหว่างนายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี นักธุรกิจ กับนายไพบูลย์ กิจวรวุฒิ ซึ่งเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 4

ภาพ : เฟซบุ๊กพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดนนทบุรี

ภาพ : เฟซบุ๊กพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดนนทบุรี

ภาพ : เฟซบุ๊กพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดนนทบุรี

ตัวละครหนึ่งที่ปรากฏบนเวที ในฐานะทีมงานของนายพิชเยนทร์ คือ นายวสุ ผันเงิน อดีตนายก อบต.บ้านใหม่ จ.นนทบุรี ย้อนไปหลายปีก่อน เขาคือ ผู้นำคณะไปดูงานที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะเกิดคดีดัง “ค้าประเวณีน้ำเพียงดิน” แม้นายวสุไม่ถูกดำเนินคดีเรื่องซื้อบริการเด็ก แต่ก็ต้องขึ้นศาลในกรณีทำเอกสารเบิกงบประมาณไปดูงาน จนล่าสุดก็ลงสมัคร ส.ส.นนทบุรี เขต 3 ในนามพรรคเสรีรวมไทย

การอภิปรายถูกโปรโมทและถ่ายทอดสดยาว ก่อนที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะชูมือให้กับนายไพบูลย์ งานเหมือนจะจบลงด้วยดี เพราะนายพิชเยนตร์ก็ยอมรับผล แต่เรื่องนี้กลับไม่จบ

นายวสุกลับโพสต์ข้อความโจมตีเวทีนี้ว่า เป็นการจัดฉากและกำหนดตัวผู้ชนะไว้แล้ว ส่วนที่ไปร่วมงานของพรรคอนาคตใหม่ เพราะอยากช่วยพัฒนาพื้นที่

 

ผู้สนับสนุนอนาคตใหม่ บุกโจมตีนายวสุ อย่างหนัก ความคิดเห็นมากกว่า 1 พันข้อความ และในจำนวนนี้มีถ้อยคำหยาบคายรวมอยู่ด้วย นายวสุไม่ก็ยอมถูกด่าฝ่ายเดียว และโพสต์ตอบโต้เป็นระยะ

ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตย แต่ไม่อาจนับรวมการใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและภาษา หรือวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง

ประเด็นคือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อนาคตใหม่เกิดปัญหากับคนในพรรคร่วมฝ่ายค้าน พวกเขาเคยตอบโต้กับพรรคเพื่อไทย กรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว วิเคราะห์การยุบพรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าอาจเป็นโมเดลสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 50 คน

กองเชียร์สองฝ่ายโต้กันไปมาอย่างรุนแรง จนอดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ต้องออกมาขอโทษเพื่อสงบศึก

กลับมาที่ญัตติอภิปรายกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งต้องเปิดรัฐธรรมนูญมาสู้กัน ตัวชูโรงของพรรคอนาคตใหม่ คงหนีไม่พ้นนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส่วนเพื่อไทยก็มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่เข้มแข็งเช่นกัน แต่เมื่อไม่มีการลงมติ อภิปรายดีแค่ไหนก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ แม้หวังจะเปิดแผลพลเอกประยุทธ์ให้ได้มากที่สุดก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนั้น และหากตัวแทนพรรคฝ่ายค้านหวังเพียงสร้างผลงานและคะแนนนิยมส่วนตัว อาจเกิดภาวะ “แย่งซีนกันเอง” เพราะแม้จะอยู่ขั้วเดียวกันสภา แต่สุดท้ายก็ยังเป็นคู่แข่งในมุมการเมืองอยู่ดี

แล้วประชาชนผู้รอชมการซักถามและตรวจสอบครั้งนี้จะได้รับประโยชน์มากแค่ไหน

 

จตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง