"กรมป่าไม้" ยังไม่เคาะใช้พื้นที่ผุดซาฟารีห้วยขาแข้ง

สิ่งแวดล้อม
4 ก.ย. 62
09:05
1,100
Logo Thai PBS
"กรมป่าไม้" ยังไม่เคาะใช้พื้นที่ผุดซาฟารีห้วยขาแข้ง
กรมป่าไม้-กรมอุทยานฯ ระบุยังไม่เคาะใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าชุมชน ทำซาฟารีห้วยขาแข้ง ยังต้องศึกษา และทำประชาพิจารณ์อย่างรอบด้าน ฟังเสียงทุกภาคส่วน และต้องไม่กระทบกับชาวบ้าน ระบุแค่แนวทางศึกษาจะแล้วเสร็จปี 2563

กรณีการศึกษาโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ซึ่งมีการดำเนินการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์บริเวณเขตกันชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในรูปแบบซาฟารี

วันนี้ (4 ก.ย.2562) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ทางคณะวนศาสตร์และนักวิจัยได้มานำเสนอแนวคิดของโครงการ ให้กรมป่าไม้ได้รับทราบแล้ว เมื่อต้นปี 2562 พบว่าพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบึงเจริญเนื้อที่ 4,700 ไร่ พื้นที่เตรียมจัดตั้งป่าชุมชนบ้านห้วยเปล้า 2,812 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำที่เป็นเขื่อนทับเสลา  6,406 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างที่กรมชลประทานขอต่ออายุการใช้ประโยชน์ที่ดินกับกรมป่าไม้

รวมทั้งมีประชาชนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่โครงการบางส่วน และทราบว่ามีกลุ่มประชาชนบางกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วย กรมป่าไม้จึงยังไม่ได้ตัดสินใจโครงการนี้ และยังให้คณะนักวิจัยไปจัดทำขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน พร้อมทั้งศึกษารายละเอียดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ สร้างการรับรู้ความเข้าใจ ร่วมกัน และการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกิจกรรม

 

นายอรรถพล กล่าวว่า  เห็นด้วยที่มีการศึกษา แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าควรจะทำหรือไม่ทำ เพราะว่าการทำอะไร ถ้ามีปัญหาก็จะไม่ทำ โดยเฉพาะถ้ามีผลกระทบกับชาวบ้าน 

ถ้าชาวบ้านรับไม่ได้ก็จบ เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา ตอนนี้มีชาวบ้านป่าชุมชนที่ไม่เห็นด้วยเพราะไปรบกวนป่าชุมชน เขาจะเข้าไปเก็บหาของป่าได้หรือไม่ เพราะป่าชุมชนจะมีทั้งป่าชุมชนและป่าอนุรักษ์ ต้องคุยกันให้ชัดก่อน

พื้นที่มีศักยภาพแต่ต้องไม่กระทบกับชมชนรอบป่า 

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า มีการพูดคุยกับอธิบดีกรมอุทยานฯ ว่าอาจจะต้องมีคณะทำงานร่วมกันว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งภาพรวมอยากให้เริ่มต้นแบบกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เริ่มที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม อย่าเพิ่งไปถึงระดับที่ใช้คำว่าซาฟารี แต่ต้องค่อยๆ พัฒนา 

โดยเห็นว่าควรมีแผนงานที่ชัดเจนครบวงจร ระบุหน่วยงานรับผิดชอบ แหล่งที่มาของงบ การบริหารจัดการการดำเนินงานโครงการที่สามารถดูแลโครงการได้ด้วยตนเองได้ อีกทั้ง กรมป่าไม้เห็นควรให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พิจารณาโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่ 

พื้นที่มีศักยภาพ สวยมีวิวทิวทัศน์ มีพื้นที่ให้สัตว์ลงมากินน้ำ ถ้าเคลียร์พื้นที่ 30,000 ไร่ ให้แค่มีสัตว์ลงมากินน้ำในอ่างเก็บน้ำทับเสลาได้ แต่คำถามคือถ้าเปิดให้คนในเมืองเข้ามาเที่ยวใช้ประโยชน์ แล้วเอาชาวบ้านไปไว้ตรงไหน ตรงนี้สำคัญมาก 

 

กรมอุทยานฯ ชี้ไม่มีนโยบายทำซาฟารี 

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ยังไม่ได้รับการรายงานผลการศึกษาใดๆ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ทั้งนี้ โครงการเป็นเพียงการเสนอรูปแบบเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการบริหารจัดการสัตว์ป่าในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีเป้าหมายในการบริหารจัดการสัตว์ป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ขณะเดียวกันก็ให้ชุมชนในพื้นที่ได้มีรายได้ ดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่าควบคู่กันไป แต่หากจะดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวต่อไป ก็จำเป็นจะต้องมีการพูดคุยหารือกันทุกภาคส่วน ถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้านเสียก่อน

ยืนยันกรมอุทยานฯ ไม่มีนโยบายจะดำเนินการในรูปแบบของซาฟารี ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ทุ่งใหญ่-นเรศวร มรดกโลก

นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานฯ กล่าวว่า พื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งอยู่ใจกลางผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 3 แห่งได้แก่ ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก รวมพื้นที่ 6,427 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าสมบูรณ์และมีเสือโคร่งประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเสือโคร่งทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย ตลอดจนสัตว์ป่านานาชนิด 

นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่เป็นชุมชนดั้งเดิม ชุมชนเกษตรสวนป่าผสมผสาน ซึ่งอาศัยอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันออกและตะวันตก และชุมชนที่ตั้งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของพื้นที่กันชนรอบๆพื้นที่มรดกโลก ซึ่งมีชุมชนดังกล่าวกว่า 29 หมู่บ้าน ที่พึ่งพิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากป่าในการดำรงชีวิต

สำหรับโครงการนี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ในการดำเนินการโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินตั้งแต่ปี 2558 จะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2563

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

มูลนิธิสืบ ชี้ "ซาฟารี" ห้วยขาแข้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายจัดการสัตว์ป่า

ฟังชัดๆ "วราวุธ" ชี้ซาฟารีห้วยขาแข้งแค่แนวคิด-ทส.ต้องปกป้องป่า

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง