"สนธิรัตน์" เล็งหารือ "กัมพูชา" ใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

เศรษฐกิจ
4 ก.ย. 62
12:10
268
Logo Thai PBS
"สนธิรัตน์" เล็งหารือ "กัมพูชา" ใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
นายกรัฐมนตรีเปิดงานรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 ประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลางประเทศอาเซียน พร้อมผลักดันให้เกิดร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน ด้านรัฐมนตรีพลังงาน จะหารือกับกัมพูชา หาข้อยุติใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเป็นแหล่งผลิตพลังงานร่วมกัน

วันนี้ (4 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งมี 10 รัฐมนตรีอาเซียนร่วมการประชุมในครั้งนี้ และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีพลังงานจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เข้าร่วมประชุม

 

 

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยให้อาเซียนเดินหน้าสู่การสร้างยุทธศาสตร์พลังงานของอาเซียนร่วมกันและสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานระหว่างกันโดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง เนื่องจากประเทศภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการด้านพลังงาน และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต ดังนั้น พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนจะกลายเป็นพลังงานหลักต่อไปในอนาคต ซึ่งการพัฒนาตลาดและการลงทุนด้านพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแห่งอนาคต ทั้งในส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิลและไม่ใช่ฟอสซิล จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภูมิภาค เพราะอาเซียนได้เห็นชอบร่วมกันในการผลักดันเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนให้ถึงร้อยละ 23 ในปี 2568 และในฐานะไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียน จะผลักดันให้เกิดร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย-สปป.ลาว-มาเลเซีย ที่เป็นรูปธรรม และจะขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ผมขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมและจดจำรอยยิ้มสยามของนายกรัฐมนตรีเอาไว้ด้วย เพราะถือว่าคนไทยชอบยิ้มแม้จะทำงานหนักก็ต้องยิ้มเอาไว้ก่อน

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า วันนี้มีภารกิจต้องไปพบประชาชนที่ประสบอุทกภัยภาคเหนือ โดยไป 2 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งช่วงนี้พายุกำลังเข้าแต่ก็คงผ่านหลายประเทศ แต่ละประเทศก็ได้รับปัญหามากหมือนกัน สะท้อนว่าโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพลังงานด้วยในอนาคตในเรื่องพลังงานจากน้ำเหล่านี้เป็นปัญหาหมด เรื่องการผลิตน้ำจากเขื่อน

 

 

ซึ่งไทยประสบปัญหา เนื่องจากฝนตกใต้เขื่อน ซึ่งเขื่อนของเราสร้างมาก่อนแล้ว 20-30 ปี สมัยก่อนน้ำเต็ม จึงเป็นปัญหาที่ไทยต้องแก้ในอนาคต และประเทศที่อยู่ในอาเซียน หรือประเทศที่อยู่ไกลออกไปก็ต้องวางหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องของเศรษฐกิจไปด้วยกัน อาเซียนวันนี้มูลค่าร่วมกัน

 


ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หนึ่งในการหารือกับอาเซียนวันนี้ คือการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ที่ยุติการเจรจามานาน 20-30 ปี ไทยจะหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปและจะกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงานในอนาคต แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ข้อยุติ เพราะเป็นที่เจรจาในกรอบระหว่างประเทศ แต่จะเป็นเรื่องแรกของรัฐบาลชุดนี้จะหารือ และเชื่อว่าทุกฝ่ายมีความตั้งใจร่วมกันในการผลักดันของทั้ง 2 ประเทศ เพราะโดยพื้นฐานกัมพูชามีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนมาก ขณะที่ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูง จึงต้องวางนโยบายให้ไทยเป็นตัวกลางของภูมิภาค เพื่อนำพลังงานไปสู่ประเทศกัมพูชาได้อย่างไร 

กัมพูชาต้องการจะขยายโรงไฟฟ้า และไทยมีศักยภาพในด้านผลิตไฟฟ้า เช่นเดียวกับความร่วมมือกับ 3 ประเทศ ไทย-ลาว -มาเลเซีย ที่ร่วมเชื่อมโยงสายส่งระหว่างอาเซียน หรือ Grid ของภูมิภาค จะเป็นโมเดลต้นแบบนำไปสู่พหุภาคีและสนองให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง พลังงานไฟฟ้าสู่อาเซียน

สำหรับการเจรจากับอาเซียน จะวางกรอบการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในอาเซียน เนื่องจากอาเซียนวางสัดส่วนใช้พลังงานทดแทน ร้อยละ 23 แต่ตามแผนพัฒนาพลังงานผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพีของไทย ต้องการผลักดันร้อยละ 33 จึงต้องขับเคลื่อนพลังงานทดแทนให้มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานจากพืชผลทางการเกษตร ตามโครงการหนึ่งชุมชนหนึ่งพลังงาน

การประชุม AMEM ครั้งที่ 37 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. 2562 โดย 10 ประเทศ สมาชิกอาเซียน และจะมี 8 ประเทศนอกสมาชิกอาเซียนร่วมสังเกตการณ์ด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รัสเซีย อินเดีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง