คลัง การันตี ร้านค้า “ชิม ช้อป ใช้” ไม่โยงสอบภาษี

เศรษฐกิจ
4 ก.ย. 62
16:47
3,624
Logo Thai PBS
คลัง การันตี ร้านค้า “ชิม ช้อป ใช้” ไม่โยงสอบภาษี
กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ขยายขอบเขตธุรกิจ ที่สามารถใช้จ่ายและได้รับเงินคืนร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่าย พร้อมลงพื้นที่เคาะประตูร้าน เชิญชวนเข้าร่วมโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” หลังยอดธุรกิจเข้าโครงการต่ำ ย้ำไม่ส่งข้อมูลให้สรรพากร ตรวจสอบภาษี

ปัญหายอดร้านค้าเข้าร่วมโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ทั่วประเทศเพียง 3,300 แห่ง จากจำนวนร้านค้าเป้าหมาย 50,000 ร้านค้า ทำให้นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี ปรับปรุงแก้ไขขอบเขตประเภทสินค้าและบริการ ที่สามารถใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ช่องที่ 2 หรือช่องที่ประชาชนเติมเงินใช้จ่ายเอง แต่จะได้รับเงินคืนร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่าย จากเดิมจำกัดประเภทสินค้าและบริการท้องถิ่น เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจนำเที่ยว สปา เช่ารถ แต่ต้องมีเอกสารรับรองจากทางราชการ ซึ่งผ่อนปรนจากเดิมต้องเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์

 

นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางและคลังจังหวัด จะลงพื้นที่เข้าไปพบเจ้าของโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อขอให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องเดินทางเข้ามาพบคลังจังหวัด หรือกรมบัญชีกลางด้วยตัวเองรวมทั้งอาจเสนอขยายเวลารับลงทะเบียนด้วย จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 20 กันยายนนี้

 

นายลวรณ กล่าวอีกว่า ได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพากรแล้วว่าการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” จะไม่มีการนำข้อมูลของผู้ประกอบการไปเชื่อมโยงกับกรมสรรพากร จึงขอให้ผู้ประกอบการอย่ากังวลปัญหาการถูกตรวจสอบรายได้ และการเสียภาษี

ผมเคยคิดมาตรการ “เที่ยว ฟรี ไม่มี VAT แต่หักกลบลบหนี้แล้ว มองว่า อย่าไปยุ่งกับกรมสรรพากรดีกว่า เดี๋ยวมาตรการจะถูกมองแง่ลบ และขอย้ำว่าผู้ประกอบการที่เข้าโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ไม่ถูกตรวจสอบภาษีอย่างที่กังวล


ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาสแรกของปี อยู่ในระดับสูงร้อยละ 78.7 ต่อจีดีพี นายลวรณ ชี้แจงว่าหนี้คงค้างในระดับส่วนใหญ่ เป็นหนี้ภาคธุรกิจและหนี้บริโภค ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงไม่กังวลว่าจะกระทบเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้วางมาตรการกำกับดูแลหนี้ครัวเรือน 2 มาตรการ แบ่งเป็นมาตรการด้านการให้ความรู้ และเพิ่มทักษะบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล และมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หลังพบว่า ปัญหาหนี้สินด้อยคุณภาพของประชาชน มาจากการแบกภาระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายจากการผิดนัดชำระหนี้ซ้ำซ้อน และเสนอสินเชื่อบริโภคที่เหมาะสมกับลูกหนี้แทน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง