"อังคณา" จี้รัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหายฯ

สังคม
5 ก.ย. 62
07:25
743
Logo Thai PBS
"อังคณา" จี้รัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหายฯ
นางอังคณา นีละไพจิตร เรียกร้อง รัฐสภาพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหายฯ ของสหประชาชาติ หลัง สนช.ไม่ผ่านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการทรมานและการบังคับสูญหาย


วันนี้ (5 ก.ย.2562) นางอังคณา นีละไพจิตร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Angkhana Neelapaijit ถึงกรณีการบังคับสูญหายในประเทศไทย โดยมีเนื้อหา ดังนี้


#Billy4 #คนก็หาย #กฎหมายก็ไม่มี #แล้วเราทำอะไรได้บ้าง

การบังคับสูญหายในประเทศไทย: คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance -WGEID)

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2562 ต่อที่ประชุมใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council –HRC) ระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายในไทย 86 ราย (กรณีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬประมาณเกือบ 40 ราย, สถานการณ์ความไม่สงบใน จชต.ประมาณ 31 ราย, การปราบปรามยาเสพติดในภาคอีสาน รวมถึงกลุ่มชาติพันธ์ทางเหนือ ประมาณ 10 กว่าราย นอกจากนั้นมีกรณีบังคับสูญหายในกรุงเทพฯกรณีสมชาย นีละไพจิตร, ทะนง โพธิ์อ่าน และผู้สูญหายจากความขัดแย้งทางการเมือง) ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีผู้ถูกบังคับสูญหายมากเป็นลำดับ 3 ใน ASEAN รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

รายงานคณะทำงานฯ ยังระบุถึงการไม่ตอบสนองของรัฐบาลไทยต่อการร้องขอของคณะทำงานฯเพื่อมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดคณะทำงานฯได้มีหนังสือร้องขอถึงรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562

o ในการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยระบบ UPR เมื่อปี 2559 มีมิตรประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติกว่า 10 ประเทศได้มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Involuntary or Enforced Disappearance) ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามโดยมอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการ

o นอกจากนั้นคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆขององค์การสหประชาชาติ (Human Rights Committee) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี เช่น คณะกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR Committee), คณะกรรมการด้านสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (IECSCR Committee) รวมถึง คณะกรรมการด้านการต่อต้านการทรมาน (CAT Committee) ก็ได้มีข้อสรุปเชิงสังเกต และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ และให้มีกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้การทรมานและการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม มีการนำคนผิดมาลงโทษ และให้การเยียวยาแก่ครอบครัว

o เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ และวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ครม.มีมติส่งร่าง พ.ร.บ.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่ง สนช. มีมติให้มีการพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการทรมานและการบังคับสูญหายให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะมีการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ

o สนช.ใช้เวลาถึง 3 ปี ในการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โดยระหว่างการพิจารณาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จนสุดท้าย สนช.หมดวาระ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา และไม่สามารถประกาศใช้ได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะเป็น พ.ร.บ.ที่ สนช.ใช้เวลาในการพิจารณาแก้ไขในสาระสำคัญนานที่สุด และล้มเหลวในการพิจารณากฎหมายให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ

o ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติแล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ โดยที่หลายฉบับประเทศไทยได้ให้ให้สัตยาบันก่อนแล้วจึงให้มีการปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศ เช่น อนุสัญญาด้านการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW) หรืออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อปี 2550 โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การทรมานเป็นอาชญากรรม

o ทั้งนี้หากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะทบทวนมติ สนช.โดยในระหว่างที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหาย จึงควรพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหายฯ ของสหประชาชาติโดยเร็ว ย่อมจะแสดงให้เห็นถึงการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับสูญหาย และย่อมได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ ทั้งนี้แนวปฏิบัติในการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯก่อนที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศ ประเทศไทยสามารถมีข้อสงวนในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯได้ ตามที่ได้เคยปฏิบัติในการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับอื่นๆมาแล้ว

#รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องไม่กลัวการตรวจการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง