10 ปี ความขัดแย้งในพื้นที่แก่งกระจาน

อาชญากรรม
5 ก.ย. 62
11:13
4,917
Logo Thai PBS
10 ปี ความขัดแย้งในพื้นที่แก่งกระจาน
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลความขัดแย้งของชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กระทั่งมีคดีความฟ้องร้องระหว่างกันหลายคดี รวมถึงความคืบหน้าล่าสุดที่ดีเอสไอออกมาชี้ชัดว่า "บิลลี่" เสียชีวิตแล้ว

วันนี้ (5 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ชัดเจน เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คณะกรรมการมรดกโลก ยังไม่รับรองให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ขณะที่ก่อนหน้านั้ ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย กว่า 120 คน ลงชื่อในหนังสือที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก ว่าไม่เห็นด้วยกับการเสนอมรดกโลกในเวลานี้ เพราะยังไม่ได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการอพยพชาวบ้านออกจากชุมชนเดิม

สำหรับคนทั่วไป ชื่อของโป่งลึก-บางกลอย เป็นที่รู้จักเมื่อเดือน ก.ค.2554 เมื่อชาวบ้านออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ถูกเจ้าหน้าที่เผาทำลายที่พัก พร้อมทรัพย์สินที่บ้านบางกลอยบน และให้ลงมาอยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ โดยขณะนั้นมีนายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ เป็นผู้ประสานงานให้ชาวบ้านเข้าร้องเรียนกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน

 

ถัดมาเพียงแค่ 2 เดือน นายทัศน์กมล ถูกลอบยิงเสียชีวิต ตำรวจให้น้ำหนักในประเด็นการเคลื่อนไหวช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน โดยมีการยื่นฟ้องอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมพวก ข้อหาจ้างวานฆ่า แต่คดีจบลง เมื่อทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

หลังการเสียชีวิตของนายทัศน์กมล และนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ที่มีทักษะการใช้ภาษาไทยได้ดี ลุกขึ้นเป็นตัวแทนชาวบ้านเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม บิลลี่ยังเป็นคนลงชื่อในเอกสารคำฟ้องของศาลปกครอง ต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากกรณีเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน แต่ในระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เขาก็หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 โดยมีผู้พบเห็นครั้งสุดท้ายว่า ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้

 

อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยืนยันในความบริสุทธิ์ ว่าเขาควบคุมตัวบิลลี่ไว้เพียง 15 นาที และปล่อยตัวไปแล้ว ส่วนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้เพียงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พิจารณาในความผิดเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานมีน้ำหนักไม่เพียงพอให้เชื่อว่าบิลลี่ยังถูกเจ้าหน้าที่ถูกควบคุมตัวอยู่ ก่อนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะรับเป็นคดีพิเศษ เมื่อเดือน มิ.ย.2561 และค้นพบหลักฐานสำคัญที่ระบุว่าบิลลี่เสียชีวิต หลังเขาหายตัวไปนาน 5 ปี

 

ส่วนคดีที่ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่องการเผาทำลายที่พักและทรัพย์สิน เมื่อเดือน มิ.ย.2561 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้านรายละกว่า 50,000 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง