ฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ พ.ร.ก.ครอบครัวฯ

สังคม
5 ก.ย. 62
14:59
392
Logo Thai PBS
ฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ พ.ร.ก.ครอบครัวฯ
การออก พ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้กฎหมายครอบครัว กำลังกลายเป็นประเด็น เมื่อฝ่ายค้านยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อมาตรา 172 หรือไม่ เพราะเชื่อว่าการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์เหตุความจำเป็นเร่งด่วน

กรณีการออกพระราชกำหนดเพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองครอบครัาว พ.ศ.2562 กำลังกลายเป็นที่สนใจ เนื่องจากฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อมาตรา 172 หรือไม่ เพราะเชื่อว่าการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์เหตุความจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว (พ.ร.บ.) พ.ศ.2562 มีวัตถุประสงค์เพื่ออุดช่องว่างกฎหมายฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 โดยเพิ่มกลไกการทำงานภาคส่วนต่าง ๆ ให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งการป้องกัน แก้ไข เยียวยา และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว

กฎหมายฉบับดังกล่าว มีทั้งหมด 7 หมวด 47 มาตรา สาระสำคัญให้มีคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ และหน่วยงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว กำหนดให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดทางอาญา ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรง

ทั้งยังนำหลักการ “Batterd Woman Syndrome” คือให้สิทธิต่อผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง สามารถนำสืบเพื่อพิสูจน์การกระทำดังกล่าวได้ และให้ศาลลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเพื่อให้ศาลไต่สวนและพิจารณาโทษใหม่ได้

 

ขณะเดียวกันได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ในการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำความรุนแรง และยังกำหนดให้มีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันปัญหาความรุนแรงในระดับพื้นที่ ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2562 แต่ปัญหาความไม่พร้อมของหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ช่วงต่อของงบประมาณ ทำให้มีข้อจำกัดในการทำงาน

ทำให้วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2562 รัฐบาลจึงออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 เพื่อชะลอการบังคับใช้ และให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดิม มาใช้บังคับต่อไปก่อนเป็นการชั่วคราว

รมว.พม.แจงความจำเป็น ออก พ.ร.ก.ครอบครัวฯ

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงว่า เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2562 ปรากฏว่ามีเรื่องของความไม่พร้อมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทำให้ประชาชนจะไม่ได้รับความสะดวกในการใช้กฎหมายฉบับนี้ รวมถึงยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ช่วงต่อของงบประมาณทำให้มีข้อจำกัดในการทำงานให้มีคุณภาพ ดังนั้นจึงเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายไปก่อน เพราะเจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

แต่ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ไม่เห็นด้วยกับการชะลอการบังคับใช้ โดยระบุว่ากฎหมายครอบครัวฉบับใหม่มีบทบัญญัติชัดเจนถึงการทำงานแต่ละส่วน โดยเฉพาะด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำความรุนแรง แต่น่าเสียดายเมื่อกฎหมายถูกชะลอการบังคับใช้ โดยอ้างเหตุถึงความไม่พร้อมของบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งมองว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะการบังคับใช้ที่ล่าช้า ทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเสียโอกาสในการขอรับความช่วยเหลือจากศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว

ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจะเสียสิทธิในการใช้สิทธิคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามกลไกของศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ ที่ไม่มีอยู่ในกฎหมายฉบับเดิม 

ฝ่ายค้านติง พ.ร.ก.ครอบครัวฯ ขัดรัฐธรรมนูญ ม.172

ขณะที่ การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เพราะในวรรคแรกเขียนว่า ต้องเป็นเหตุที่เกี่ยวกับใน 4 ข้อ ได้แก่ 1.เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ 2.เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ 3.เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และ 4.เพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งการออก พ.ร.ก.ได้ต้องเป็น 4 เหตุผลนี้เท่านั้น และต้องเป็นเรื่องความจำเป็นเรื่องด่วน

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว แต่จะตกไปได้จากกรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ หรือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากถูกสภาผู้แทนราษฎรหรือศาลรัฐธรรมนูญตีตก รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกโดยประเพณีปฏิบัติ แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดไว้ เพราะอาจเข้าข่ายลุแก่อำนาจและบกพร่องต่อหน้าที่

ถ้าเป็นประเด็นความรับผิดชอบซึ่งตีความกว้าง ผมเชื่อว่ารัฐบาลคงคิดได้ว่า มันเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องนี้มันเป็นความผิดพลาด เป็น พ.ร.ก.ที่ยั้บยั้งการใช้กฎหมาย ซึ่งไม่ค่อยเกิด กฎหมายมีผลบังคับใช้อยู่แล้ว แต่ไปบังคับยับยั้งการใช้ ผมเชื่อว่ามีความเสียหายรุนแรง

ซึ่งกรณีที่ฝ่ายค้านเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว จึงทำให้การพิจารณา พ.ร.ก.ต้องเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง