เริ่มแล้ว! ญัตติด่วนขอตั้ง กมธ.อีอีซี ชี้ปัญหา-ของบพัฒนาให้สมดุล

เศรษฐกิจ
5 ก.ย. 62
18:09
1,119
Logo Thai PBS
เริ่มแล้ว! ญัตติด่วนขอตั้ง กมธ.อีอีซี ชี้ปัญหา-ของบพัฒนาให้สมดุล
ญัตติด่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ถูกหยิบยกพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ โดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่และประชาธิปัตย์ ชี้ปัญหาและข้อบกพร่องของโครงการฯ พร้อมขอจัดสรรงบประมาณเพื่อให้การพัฒนามีความสมดุล


วันนี้ (5 ก.ย.2562) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา มีการพิจารณาญัตติด่วน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 หลังค้างการพิจารณามานานเกือบ 2 เดือน

สำหรับญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและตรวจสอบสอบผลกระทบจากการดำเนินโครงการอีอีซี การวางผังเมือง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง มีนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคอนาคตใหม่ และคณะ เป็นผู้เสนอ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ร่วมอภิปรายในญัตติดังกล่าว ระบุว่า โครงการขนาดใหญ่ที่ให้สิทธินักลงทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนจะได้รับ ควบคู่ไปกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.อีอีซี ร่างแรกเคยระบุว่า การจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษจะต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) แต่ที่สุดก็หายไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแต่ละโครงการอาจผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่เมื่อมีหลายโรงงานรวมกัน มลพิษในระดับพื้นที่อาจไม่สามารถรองรับได้ ซึ่งมีบทเรียนมาแล้วจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น อยากให้ทบทวนว่าต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ด้วย

น.ส.ศิริกัญญา ยังได้ตั้งคำถามกรณีการแย่งน้ำอุปโภคบริโภคระหว่างประชาชน ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม การบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมด้วย 

 

เราต้องการให้รัฐทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ปิดตาข้างเดียว ทำหน้าที่ทั้งส่งเสริม ขับเคลื่อนการพัฒนา ไม่บกพร่องการกำกับดูแล ต้องการเห็นเอกชนที่นำเงินมาลงทุน ไม่ว่าเพื่อแสวงหากำไร หรือใด ๆ ยอมรับกติกาที่จะดูแลผลกระทบต่าง ๆ ในระดับที่รับได้ 


ด้าน นายจิรัฏฐ์ ในฐานะ ส.ส.พื้นที่ ระบุว่า การพัฒนาพื้นที่อีอีซี ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีการให้อำนาจเหนือกฎหมายอื่นมากกว่า 30 ฉบับ เพื่อเปิดทางให้เกิดการลงทุน หนึ่งในนั้น คือ การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ที่รอการพิจารณา


นายจิรัฏฐ์ ยังได้ยกตัวอย่างพื้นที่ได้รับผลกระทบ ว่าหากแผนผังดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจาก ครม. ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยของผู้ได้รับผลกระทบ ว่าการเปลี่ยนสีผังเมืองครั้งนี้ มีการตั้งธงไว้แล้วหรือไม่ และเป็นการเปลี่ยนสีผังเมือง มากกว่าคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ โดยตั้งข้อสังเกตว่า หากการเปลี่ยนสีผังเมืองเพื่อรองรับอุตสาหกรรมตามโครงสร้างพื้นฐาน แต่บางจุดที่มีโครงสร้างเหล่านี้รองรับ กลับยังเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมที่ติดกับแม่น้ำบางปะกง กลับถูกเปลี่ยนให้รองรับอุตสาหกรรม และที่สำคัญ เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ

ขณะที่ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาผลกระทบโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และแสวงหาแนวทางป้องกันแก้ไข มี นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ และนายธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ

 

นพ.บัญญัติ ซึ่งเป็น ส.ส.พื้นที่อีอีซี อภิปรายว่า การพัฒนาโครงการอีอีซี เป็นเรื่องที่ดี ให้ประเทศเดินหน้าการพัฒนา กระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคได้จริง จากเม็ดเงินการลงทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท และจะส่งผลให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นแรงงาน ทั้งไทยและต่างประเทศ ในขณะที่การพัฒนาตามแผนของรัฐบาล กลับไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณ ที่จะรองรับในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งหากการพัฒนารองรับไม่เพียงพอ ไม่รอบด้าน จะส่งผลกระทบโดยตรงกับคุณภาพชีวิต ทั้งคนที่อยู่มาก่อน และแรงงานอพยพ

นพ.บัญญัติ จึงเสนอให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาฯ เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยตรง เพื่อจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งเห็นตัวอย่างได้จากการพัฒนาจังหวัดระยอง ตามโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ได้รับการจัดการงบประมาณที่ไม่สมดุลกับการจัดเก็บภาษี 

ขณะที่นายธารา กล่าวเสริมถึงเหตุผลและความจำเป็นในการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาฯ ดังกล่าว โดยตั้งคำถามว่าจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ได้อะไรจากโครงการนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่จัดเก็บภาษีอันดับต้นของประเทศ โดยเฉพาะ จ.ระยอง ที่จัดเก็บภาษีได้ปีละ 2 แสนล้านบาท หรือเดือนละกว่า 2 หมื่นล้าน และหากโครงการอีอีซีเกิด จะมีเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีกมาก ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลและไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ จึงขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณ พิจารณาให้เกิดความสมดุลกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยเสนอให้ เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที 

 

การกระจายอำนาจ ไม่ได้ให้อำนาจอะไรเลย โครงการที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ถ้าไม่มีส่อทุจริตคอร์รัปชัน ควรอนุโลม ให้อำนาจในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการอีอีซี 

นอกจากนี้ นายธารายังกล่าวอีกว่า ผู้ที่รู้เรื่องท้องถิ่นดีที่สุด คือ กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.กระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นผู้ที่รู้ปัญหาของท้องถิ่นดีที่สุด จึงขอให้เป็นผู้ดูแลกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พล.อ.ประยุทธ์" ให้ความมั่นใจนักธุรกิจเกาหลีลงทุนอีอีซี

"สภาที่สาม" ตรวจสอบนโยบายอีอีซี

“วิกรม” ไม่ติดใจถูกกล่าวหาผัง EEC เอื้อทุน ย้ำไทยขาดกลุ่มทุนไม่ได้

"อนาคตใหม่" ขอชะลอผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ตั้งขอสังเกตเอื้อกลุ่มทุน

เครือข่ายภาคตะวันออก เดินหน้าคัดค้านผังเมืองอีอีซี

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง