เปิดปม : ตลาดวายนวัตวิถี

สังคม
6 ก.ย. 62
15:10
4,504
Logo Thai PBS
เปิดปม : ตลาดวายนวัตวิถี
รัฐทุ่มงบเกือบหมื่นล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี มีชุมชนที่มีศักยภาพกว่า 3,273 ชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วม แต่พบว่ากว่าครึ่งล้มเหลว จนถูกตั้งคำถามว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่
162 หมู่บ้านไม่ห่วงไปต่อได้ ประเภทที่ 2 คือพัฒนาศักยภาพได้ ขอให้พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ประเภทที่ 3 เป็นพัน เป็นเรื่องเกษตรควรจับคู่กับแหล่งที่เป็นตลาดให้ขายของได้ ประเภทสุดท้ายพวกไม่มีแวว ทำยังไงก็ไม่มีใครเที่ยวจะส่งเสริมก็ให้เอาของไปขายตามชุมชนอื่นพวกโอทอปโมบาย

 

ข้อมูลจาก นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ชี้ให้เห็นว่า ผลการประเมินผลสำเร็จโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี ที่รัฐใช้งบประมาณกว่า 7,620 ล้านบาท ไปกับชุมชนที่ผ่านการคัดเลือก 3,273 หมู่บ้านจากทั่วประเทศไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะมีเพียง 162 หมู่บ้านเท่านั้นที่ได้เกรดเอ เป็นชุมชนดาวเด่น พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว แต่อีกเกือบ 2,500 หมู่บ้าน ถูกจัดอยู่ในเกรดซี และ ดี 

ไปเที่ยวกันไหม

ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามของกลุ่มผ้าครามภูไทกุดตาใกล้พัฒนา และผ้าลายขิดของกลุ่มภูไทกุดตาใกล้เก็บขิด ส่งผลให้ บ.กุดตาใกล้พัฒนา ต.สายวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี

ที่นี่ได้รับงบประมาณ 250,000 บาท เป็นค่าดำเนินการ จัดทำจุดเช็คอิน ป้ายบอกทาง รวมถึง ซุ้มแสดงสินค้า

 

นายเมืองมนต์ สุขพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้าน บ.กุดตาใกล้พัฒนา บอกว่า ตั้งแต่เปิดโครงการมายังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่หมู่บ้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่นี่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว แต่กลับนำงบประมาณมาสนับสนุนด้านนี้ เช่นทำโฮมสเตย์ ทั้งที่ชาวบ้านต้องการให้ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนอย่างเช่นผ้าย้อมคราม และผ้าทอลายขิดให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น มีตลาดรองรับ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านได้ 

ยังไม่มีใครมา ตั้งแต่เปิดชุมชนนวัตวิถี ยังไม่มีแขกมาโฮมสเตย์ที่บ้านผมเลย ทางพัฒนาชุมชนเขาบอกต้องการท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง แต่ยังไม่มีใครมาสักหลัง

 เช่นเดียวกับทุกหมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ... บ.จานเหนือ ต.บัวแดง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ได้รับมอบจุดเช็คอิน และ ซุ้มสำหรับจัดแสดงสินค้า ในวันเริ่มงานชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561

 

หลังจากจบโครงการ ซุ้มไม้ที่เคยเป็นที่จัดแสดงสินค้าของชุมชน เพื่อให้ผู้ที่มาท่องเที่ยวได้หาซื้อผลิตภัณฑ์ของชุมชน กลับไม่มีใครนำสินค้ามาวางจำหน่าย และ บริเวณที่คาดหวังว่าจะมีผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยวก็ตกอยู่ในสภาพรกร้าง

บริเวณป้ายยินดีต้อนรับ คือ จุดเช็คอินที่แก่งตะวันรอน ของ บ.ธาตุ  ต.บ้านไผ่  อ.บ้านไผ่  จ.ขอนแก่น ที่สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 1 แสนบาท แต่หลังจากผ่านพ้นวันเปิดตัวโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีเมื่อเดือนตุลาคม 2561 บรรยากาศบริเวณจุดเช็คอินก็เป็นไปอย่างเงียบเหงา แทบไม่มีผู้คนมาที่นี่

 

ทบทวนโครงการ เดินถูกทางหรือไม่

โครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี มีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้กับชุมชน ให้ประชาชนพัฒนาอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น เชื่อมโยงชุมชนท่องเที่ยวที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ กบเส้นทางการท่องเที่ยวกระแสหลัก และ พัฒนาบุคลากรให้มีความคิดเชิงสร้างสรรค์นำมาต่อยอดบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเหมาะสม โดยมีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพบประเด็นความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เกินกว่าร้อยละ 50 ไม่สามารถพัฒนาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และ ได้แจ้งข้อคิดเห็นมายังกรมการพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินโครงการยังไม่สามารถพัฒนาหมู่บ้านเป้าหมายให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ใช้อัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความแตกต่างมาเป็นจุดขายได้
หรือ กิจกรรมต่างๆ ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

 

ระยะเวลาที่จำกัด ทำให้การปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปด้วยความเร่งรีบ เน้นเป้าหมายเชิงปริมาณ ทำให้หลายกิจกรรมมีความเสี่ยงไม่สามารถพัฒนาให้เกิดหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีได้

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน บอกว่า เนื่องจากเป็นโครงการย่อยๆ ในชุมชนต่างๆ กว่า 3,000 แห่ง ก็จะมีบางส่วนที่มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ แต่จะให้เรียบร้อยทั้งหมดเป็นไปได้ยาก

ถ้าสรุปตามวัตถุประสงค์โครงการ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถเดินไปได้ตามวัตถุประสงค์ แต่ว่ามันจะสูญเสียไปเลยไหม บางที่ถ้าไม่ต่อเนื่องไม่ทำอะไร สิ่งที่ลงทุนไปก็จะหักพังไป ร้างไปไม่มีการต่อยอด มันก็เหมือนจะสูญเสียไปโดยไม่เกิดประโยชน์ อาจเกิดประโยชน์ในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น

ขณะที่ รศ.สถาพร เริงธรรม อ.สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ขอนแก่น ยอมรับว่า โครงการนี้มีความตั้งใจดี ต้องการให้ชาวบ้านพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และช่องทางการตลาดเพื่อให้เกิดการรับรู้ แต่กลไกนี้ไม่เกิดขึ้น

คำถามคือว่า ได้มีการลงมาถามชาวบ้านว่า ภายใต้แนวความคิดนี้ เขามีความพร้อมขนาดไหน เขามีความต้องการจะพัฒนาอะไร รูปแบบการบริหารจัดการใครควรเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง ตรงนี้เป็นรูโหว่ที่ทำให้โครงการไปไม่ถึงฝัน

รศ.ยุทธพร อิสรชัย อ.คณะรัฐศาสตร์ มสธ. ให้ความเห็นว่า โครงการนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในระยะสั้นๆ แต่ไม่มั่นใจว่าจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้จริงหรือไม่

งบประมาณที่ลงไปอาจทำให้เม็ดเงินลงสู่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นก็จริง แต่อาจทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในระยะสั้นๆ แต่ความยั่งยืนจริงก็จะเกิดคำถามว่ามันจะเป็นไปได้ไหม สำหรับการจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งจริงๆ สุดท้ายชุมชนไม่ได้เข้มแข็ง ทุกอย่างต้องรอมาตรการภาครัฐอย่างเดียว

 

นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยืนยันว่าโครงการนี้มีประโยชน์ โดยมีดัชนีชี้วัดทั้งจากตัวเลขทางเศรษฐกิจและด้านจิตวิทยา

ถามว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากการทำชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี ไม่ได้เฉพาะตัวเลขทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นเราให้ม.ธรรมศาสตร์เป็นคนวัดเรา เขาวัดทุกอย่างเขาบอกด้านจิตวิทยามามากที่สุด ผู้คนมีความสุขมากขึ้นจากการทำโครงการนี้ ไม่เคยได้เจอกันก็ได้มาเจอมาประชุมกันทั้งหมู่บ้าน

จากการประเมินผลการทำงานหน่วยงานรัฐของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. พบว่า กรมการพัฒนาชุมชน มีผลการประเมินดัชนีคุณธรรมและความโปร่งใสในปีงบประมาณ 2559 สูงถึงร้อยละ 92.23 แต่ผลการประเมินในปีงบประมาณ 2561 ที่มีการดำเนินโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี ดัชนีความโปร่งใส ลดลงเหลือร้อยละ 79.11

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง