"หม่อมอุ๋ย" ซัดวัฒนธรรมทหารทำประเทศเสียหาย ต้องแก้ รธน.

การเมือง
8 ก.ย. 62
21:55
4,192
Logo Thai PBS
"หม่อมอุ๋ย" ซัดวัฒนธรรมทหารทำประเทศเสียหาย ต้องแก้ รธน.
เวที "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ฯ" ม.ขอนแก่น "ธนาธร" ชี้ปัญหา รธน.60 รัฐไม่ฟังเสียง ปชช. "หม่อมอุ๋ย - สมเกียรติ TDRI" ร่วมถกปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ - หนุนร่าง รธน. ใหม่ เหตุสัมพันธ์กับเศรษฐกิจประเทศและประชาชน


วันนี้ (8 ก.ย.2562) วงเสวนา "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน" ที่ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ม.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญและหาฉันทานุมัติร่วมกันในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมวันนี้ มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ, นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), รศ.บัวพันธ์ พรหมพักพิง คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญกับปากท้องประชาชน"

"หม่อมอุ๋ย" ชี้ รธน.มีผลต่อปากท้อง ปชช.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เห็นด้วยว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันทุกคนทราบดี ว่าพ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ค่อยได้ คนใช้จ่ายก็ลำบาก เป็นปัจจัยจากทั้งภายนอกและภายใน ส่งผลให้จีดีพีหดตัว การส่งออกติดลบ การลงทุนภาคเอกชนหยุดชะงัก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับดิจิทัลไม่เอื้ออำนวย ซึ่งตนเองเห็นว่าสภาวะแบบนี้ ประเทศไม่สามารถพัฒนาได้ ดังนั้น เรื่องความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาล สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลย ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันจะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทหารกลุ่มหนึ่งสืบทอดอำนาจ ความเคยชินของวัฒนธรรมทางทหารทำให้ประเทศเสียหาย ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นจุดตั้งต้นที่ดี เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี ทำให้มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สามารถบริหารงานได้ต่อเนื่อง เศรษฐกิจจึงจะไปได้ แต่ก็มีจุดอ่อน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เสนอว่า จำเป็นต้องเพิ่มกลไกสองข้อ คือ 1.กลไกที่ให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียง มีบทบาทที่จะคอยขัดขวางรัฐบาลเสียงข้างมาก จากการครอบงำองค์กรอิสระ 2.รัฐธรรมนูญต้องเติมในส่วนที่จะให้ประชาคมมีบทบาทที่แท้จริงในการมีชีวิตที่ดี โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญมีผลต่อความกินดีอยู่ดีของประชาคมมากกว่าเศรษฐกิจ จึงต้องหาช่องให้ประชาคมมีบทบาท มีสิทธิมีเสียง

คสช.ไม่ได้ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาจริง ถ้าตั้งใจแก้ปัญหาจริง ทำเสร็จตั้งแต่ปีแรกแล้ว แค่ทำในสิ่งที่ผมใส่พานให้ และผมบอกได้เลยว่าปัญหานี้ จะเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปอีกทุกรัฐบาล

เศรษฐกิจไทยโตน้อยกว่าอาเซียนทั้งหมด

นายสมเกียรติ กล่าวว่า เวลานี้ควรใช้คำว่าเศรษฐกิจชะลอตัวและช้ากว่าที่เคยเป็น สัดส่วนที่มากที่สุดภายในประเทศ คือ อัตราการบริโภค รองลงมาเป็นการลงทุน และส่วนของการใช้จ่ายจากภาครัฐนั้น น้อยที่สุด เหตุที่เศรษฐกิจไทยตอนนี้เกิดการชะลอตัว เกิดจากสงครามการค้า แต่ยังไม่เท่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากช่วงนั้น เงินบาทอ่อนค่ามาก แต่เศรษฐกิจไทย ณ ตอนนี้ ยังไม่ถือว่าถดถอย ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เพียงแค่เติบโตช้าลง โดยประเทศไทยมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าประเทศแถบอาเซียนทั้งหมด สาเหตุสำคัญ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่อยู่ในขั้นวิกฤต

คนรวย รวยขึ้น คนจน จนลง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นเกิดขึ้นอย่างล่าช้า ต่อมาคือบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง ยังไม่มีความเติบโตที่เท่าทันโลก ต่างจากบริษัทหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีการจับมือกับนานาประเทศแล้ว

 

นายสมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจฐานรากของไทยเข้มแข็ง ต้องแก้ที่ 1.ต้องเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของสินค้าทางการเกษตร 2.กลุ่มแรงงาน คนไทยต้องทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ ค่าแรงเหมาะสมกับค่าครองชีพ 3.เศรษฐกิจ หรือ ธุรกิจขนาดย่อม ต้องไม่ถูกธุรกิจขนาดใหญ่เอาเปรียบ

ส่วนมุมมองที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ นายสมเกียรติ ระบุว่า นโยบายของรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น กฎหมายข้อบังคับ อำนาจการรวมศูนย์ สิ่งเหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจฐานไม่มีความเข้มแข็ง และการที่รัฐบาลเปลี่ยนบ่อยจะนำมาซึ่งการบริหารราชการไม่มีเสถียรภาพ ส่วนแผนยุทธศาสตร์ชาติ แม้ไม่มีปัญหากับการพัฒนาประเทศ แต่บางนโยบายเขียนกว้างเกินไป และแผนยุทธศาสตร์ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกับการเมือง

ด้าน รศ.บัวพันธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นระบบย่อยหนึ่งในสังคม แต่มีความสำคัญ เพราะเป็นกระดูกสันหลังในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งสะท้อนผ่านงานวิจัย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องตลาดสด

งานวิจัยดังกล่าว สอบถามพ่อค้าแม่ค้าใน 4 จังหวัดภาคอีสาน พบว่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์บอกว่าเศรษฐกิจแย่ และเมื่อถามว่าหากเทียบกับที่เคยเป็น เศรษฐกิจถอยไปแค่ไหน เขาบอกว่าหากเดิมเคยขายได้ 1,000 บาทต่อวัน ก็เหลือเพียง 200 บาทต่อวัน แต่ที่ตัดสินใจขายต่อไปเพราะต้องการรักษาฐานลูกค้า จ้างงานให้ตัวเอง และรอรอบเศรษฐกิจที่ดีกลับมา โดยสาเหตุสำคัญ คือราคาพืชผลการเกษตรไม่ดี 

 

 

รศ.บัวพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญได้สร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือการสืบทอดอำนาจ แต่ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้เท่านั้น ความจริงแล้ว คือการสืบทอดอำนาจมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นรัฐที่เน้นศูนย์กลางเป็นหลัก ซึ่งส่งผลต่อการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน 

แน่นอนว่าการรวมศูนย์ในส่วนกลาง มีความสำคัญเป็นบางด้าน แต่จะรวมทุกอย่างไว้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง จึงทำให้การจัดสรรอำนาจบกพร่อง และทำให้เศรษฐกิจกระจุก จึงสำคัญที่เราต้องตระหนักในเรื่องนี้


ย้ำ แก้ปัญหาปากท้อง - แก้ รธน. ไปพร้อมกันได้

นายธนาธร ระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกเขียนขึ้นมาโดยกลุ่มคนไม่กี่คน วัตถุประสงค์ไม่ได้เกิดจากความคิดว่าสังคมแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน หรือประเทศไทยแบบไหนที่อยากให้เป็น แต่มาจากความคิดว่า จะสืบทอดอำนาจอย่างไร จึงออกแบบมาเพื่อทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมโดยกฎหมาย เมื่อประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการ รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน

นายธนาธร ยังระบุอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่ในรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ รัฐบาลย่อมคำนึงถึงการอยู่รอดทางการเมือง มากกว่าการสร้างระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

เมื่ออำนาจกระจุกตัวอยู่ในมือคนไม่กี่คน อย่างที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดอกผลของการพัฒนาประเทศ ก็จะกระจายตัวไปอยู่ในมือคนไม่กี่คนเช่นกัน และจะไม่มีทางแก้ปัญหาปากท้องในระยะยาวได้เลย หากรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เขียนโดยประชาชน มาจากประชาชน และเพื่อประชาชน

นายธนาธร ยังกล่าวยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญกับแก้ปัญหาปากท้อง สามารถทำไปพร้อม ๆ กันได้ ความจำเป็นต้องเลือก ระหว่างแก้รัฐธรรมนูญกับแก้ปัญหาปากท้อง จึงเป็นการหลอกลวง เพื่อบิดเบือนประเด็นของผู้ได้รับผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงขอยืนยันอีกครั้ง ว่ามีแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน และอย่างเป็นธรรมได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ธนาธร" เผยงานเสวนา รธน.ที่ร่วมเป็นวิทยากรถูกรัฐบีบยกเลิก

ปชป.ยื่นเสนอญัตติด่วนตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ รธน.

นายกฯ ระบุแก้ รธน.ต้องดูประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่

"เพื่อไทย" เสนอตั้ง "ส.ส.ร." แก้รัฐธรรมนูญ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง