มุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ใน "คดีความผิด" เกี่ยวกับป่าไม้

สิ่งแวดล้อม
9 ก.ย. 62
12:25
1,923
Logo Thai PBS
มุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ใน "คดีความผิด" เกี่ยวกับป่าไม้
เปิดงานวิจัยของนักศึกษากลุ่มชาติพันธ์ุ กรณีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ ที่ได้รับทุนจาก สกว. ชี้กลุ่มชาติพันธ์ุยังเผชิญการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการกฎหมาย แนะปฏิรูป 4 ข้อกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

วันนี้ (9 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดผลงานวิจัย โครงการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ ของนายเล่าฟั้ง บัณพิตเทิดสกุล กลุ่มชาติพันธ์ุ  ซึ่งได้รับทุนวิจัยฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลป กรรมศาสตร์ ที่มี รศ.ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม

นักวิจัยได้รวบรวมงานเขียนกรณีศึกษาจากการลงพื้นที่ และจากเอกสารที่ประกอบด้วยเอกสารบทความวิชาการ เอกสารเกี่ยวกับคดีที่จะใช้เป็นข้อมูลในการวิจัย และเอกสารข้อมูลและสถิติต่าง ๆ ข่าวที่นำเสนอคดี หรือประเด็นปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ของกลุ่มชาติพันธุ์

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เนื่องจากการใช้สิทธิหรือได้รับสิทธิ์ตามที่กฎกำหนดไว้นั้นมีเงื่อนไข ต้องอาศัยความรู้ในระเบียบกฎหมาย หรือมีทนายความให้ความช่วยเหลือ
ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ชี้กฎหมายปกป้องผู้มีอำนาจ

นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาที่บางคนไม่มีความรู้และขาดคำแนะนำ จึงทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายได้จริง เมื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ด้วยมุมมองของทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์ นักวิจัยมีความเห็นว่ากฎหมายและนโยบายถูกออกแบบมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการจัดสรร และปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจและชนชั้นนำ การพิจารณาพิพากษาลงโทษพลเมืองที่หนัก กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีโลกทัศน์และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้จริง

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เผยให้เห็นอคติหรือการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่แฝงอยู่ในระบบกฎหมาย หากพิจารณาเฉพาะตัวบทกฎหมายแล้ว จะไม่สามารถเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะมีกฎหมายรับรองสิทธิไว้หมดแล้ว แต่อคติหรือการเลือกปฏิบัติถูกออกแบบไว้อย่างเป็นระบบ

กฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะที่เป็นแบบแผนทางการทั่วไปหรือเป็นแบบแผนพิธีการที่เจ้าหน้าที่เพียงทำตามหน้าที่ให้ครบถ้วน โดยไม่ได้สนใจต่อผลที่จะทำให้สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกเคารพอย่างจริงจัง ละเลยที่จะให้ความสนใจต่อลักษณะความเป็นคนที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคมจนกลายเป็นอุปสรรคเฉพาะตัวของกลุ่มชาติพันธุ์

นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมทางโครงสร้างสังคมไทย ที่ยังแบ่งแยกคนออกเป็นประเภท มีสถานะทางสังคมไม่เท่าเทียมกันผ่านมโนทัศน์ความเป็นคนไทย หมายถึงเป็นคนไทยไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เสียเปรียบในสิทธิและอำนาจ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจและการจัดสรรผลประโยชน์แห่งรัฐ เข้าไม่ถึงหรือถูกกีดกันสิทธิ และโอกาสในส่วนแบ่งผลประโยชน์แห่งชาติ และถูกแย่งชิงทรัพยากร

ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

งานวิจัย ชี้ความไม่เป็นธรรม

งานวิจัย ระบุว่า เนื่องจากชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจใช้อำนาจออกระเบียบจัดสรรผลประโยชน์ในทรัพยากรผ่านตัวบทกฎหมาย หรือดำเนินการนโยบายไปในทางเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผู้มีอำนาจ ในที่สุดคนชายขอบก็ถูกเบียดขับออกไป

กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจในสังคมยังชี้นำสังคมในการจัดการทรัพยากรบนพื้นที่สูงว่าควรเป็นพื้นที่ปลอดคน

โดยเฉพาะชุดความรู้ที่ว่าป่าเป็นพื้นที่ที่ต้องปลอดคน เท่านั้น พร้อมกับปิดกั้นชุดความรู้อื่น ๆ ของสังคมเกี่ยวกับป่า การจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำในสิ่งที่เป็นการใช้ชีวิตปกติของเขานั้นเป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองโดยใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเข้าไปธำรงรักษาไว้

วาทกรรม “ชาวเขาทำลายป่า” ถูกผลิตซ้ำ และตอกย้ำในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัวแก่กลุ่มชาติพันธุ์และนำไปสู่อคติ และถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมหรือปราบปรามอย่างเข้มงวดเพื่อทำให้รัฐมีอำนาจ และความชอบธรรมทางการเมืองในการเข้าไปควบคุม จัดการหรือกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้ โดยใช้เครื่องมือ และกลไกทางกฎหมายและการเมืองที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเครื่องมือและกลไกปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนหรือคนชายขอบสามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทีเป็นจริงได้

ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ภาพ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

งานวิจัย เสนอว่า จำเป็นต้องทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างน้อยใน 4 ประเด็น คือ ประเด็นปัญหาคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ เสนอให้จัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ดินและป่าไม้ เพื่อมุ่งสร้างกระ บวนการพิจารณาคดีป่าไม้และที่ดินมีมาตรฐาน ถูกต้อง เป็นธรรม ประหยัด และเกิดวิธีการพิจารณาคดีที่อำนวยความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม ปรับปรุง และพัฒนาให้เป็นรูปแบบสวัสดิการรัฐอำนวยการให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ โอกาสเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความยากจน

ส่วนประเด็นปัญหาการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก ต้องสร้างมาตรการตรวจสอบ และกลั่นกรองการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเรียกร้องสิทธิ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กลไกทางกฎหมายดำเนินคดีแก่ชาวบ้าน หรือผู้มีที่มีเจตนาโดยสุจริต และประเด็นปัญหาการสอบสวนและฟ้องคดี ต้องทำการปฏิรูประบบการสอบสวนและฟ้องคดีโดยให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญกว่าทำหน้าที่สอบสวนคดีและพิจารณาสั่งคดี

ปัจจุบันทรัพยากรป่าถูกบุกรุกทำลายกว่า 8.6 ล้านไร่ มีผู้บุกรุกกว่า 80,000 คน เป็นชาวไทยพื้นที่สูง 80% ชาวไทยพื้นที่ราบ 10% และนายทุน 10% คิดเป็นค่าเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4.69 แสนล้านบาท

โดยคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในกรณีการใช้ไม้สร้างที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินเป็นความขัดแย้งในสังคมที่เกิดจากระบบกฎหมายและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับป่าไม้ ไม่เปิดช่องทางรับรองสิทธิ์ให้กลุ่มชาติพันธ์ุบนพื้นที่สูงไม่ว่ารูปแบบใด



ข่าวที่เกี่ยวข้อง