ฟุตบอลในการเมือง

Logo Thai PBS
ฟุตบอลในการเมือง
การเสมอกับเวียดนาม ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ไม่เป็นผลดีทั้งเชิงกีฬา รวมถึงศรัทธาจากกองเชียร์ไทยที่คลั่งไคล้เกมลูกหนังไม่แพ้ชาติใด และไม่ใช่แค่กีฬาที่ทำให้พวกเขาเป็นเช่นนั้น เพราะนี่คือพิธีกรรมทางชาตินิยม ซึ่งหลวมรวมผู้คนให้เป็นหนึ่ง

1 คะแนนจากเกมเสมอเวียดนาม 0-0 ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย นัดแรก แม้ไม่น่าพอใจนัก แต่ทีมชาติไทยก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะยังมีเกมบุกเยือนอินโดนีเซีย ตามด้วยเปิดบ้านรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตามมาติด ๆ

 

กลุ่ม G นี้ เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย เพราะประกอบด้วยทีมวางอย่าง ยูเออี และอีก 4 ชาติอาเซียน คือ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ด้วยความที่รู้ไส้รู้พุงกันมานาน และระดับฝีเท้าไม่ต่างกันมากนัก พวกเขาคงเห็นตรงกันว่า นี่คือโอกาสที่ง่ายที่สุดแล้วที่ผ่านจะเข้าสู่รอบต่อไป

 

 

แม้จะไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ในโลกฟุตบอล แต่หลายชาติอาเซียนก็คลั่งไคล้กีฬาชนิดนี้อย่างมาก ด้วยความฝันที่จะได้ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายสักครั้ง และคงดีมากหากได้ไปก่อนใครในภูมิภาค 

เกมต่อไปของไทย คือการไปเยือน “เดอะ การูด้า” อินโดนีเซีย ที่สนามเกลอรา บังการ์โน หรือ “เสนายัน” เดิม ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องบรรยากาศสุดแสนกดดัน ราวกับวงแหวนหรืองูยักษ์ที่พร้อมรัดคู่แข่งให้หมดลมหายใจ

ทำไมสนามฟุตบอลถึงเป็นศูนย์รวมผู้คน ประดับด้วยธงชาติ เพลงชาติ อุปกรณ์การเชียร์ สะท้อนความเป็นหนึ่งเดียว และทำให้ความเป็นคนแปลกหน้าหายไปอย่างน้อย 90 นาที

 

มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฟุตบอลหรือกีฬาชนิดอื่น ๆ กับการเมือง และพบว่านี่คือพิธีกรรมทางชาตินิยมอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากภาพยนตร์-เพลง หรือสื่อบันเทิงต่าง ๆ สิ่งที่ปรากฏในและนอกสนาม ถูกตีความเป็นวาทกรรม หลอมรวมคนชาติเดียวกัน แบ่งข้างอีกฝ่ายเป็นศัตรู ในสนามนักกีฬาทำหน้าที่ราวกับทหารออกศึก พร้อมทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะ และด้วยเป็นกีฬาที่ต้องปะทะร่างกายกัน จนบาดเจ็บหนัก


ส่วนนอกสนาม หลายครั้งที่พลังแห่งชาตินิยม ถูกแสดงออกมาจนเกินสมควร ก่อนจบลงด้วยความรุนแรง สูญเสียและแตกแยก อาเซียนอาจไม่มีตัวอย่างชัดๆ จึงต้องชวนไปดูทีมในยุโรป อย่างสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า แห่งแคว้นคาตาลุนญา และแอธเลติก บิลเบาแห่งแคว้นบาสก์ ประเทศสเปน

พวกเขาพยายามตั้งทีมชาติของตัวเอง ลงเล่นทั้งเกมกระชับมิตร และเกมทางการระดับแคว้น ฟุตบอลกลายเป็นเครื่องมือสื่อสาร ส่วนนักฟุตบอลคือตัวแทนเรียกร้องเอกราช

 

อีกตัวอย่าง ต้องย้อนไปถึงอดีตยูโกสลาเวีย ผู้คว้าแชมป์โอลิมปิก 1960 ที่อิตาลี ด้วยนักฟุตบอลหลากหลายเชื้อชาติในแผ่นดินที่ถูกควบรวมเป็นหนึ่ง แต่ด้วยระบอบการปกครองที่กดขี่ รอยร้าวปรากฏชัดและทยอยแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ปี 1990 หน้าประวัติศาสตร์ต้องบันทึกเรื่องราวของซโวนีเมียร์ โบบัน สุดยอดนักเตะทีมดินาโม ซาเกร็บ หนึ่งในผู้นำเรียกร้องเอกราชของโครเอเชีย

 

สงครามในพื้นที่อดีตยูโกสลาเวียเกิดขึ้นต่อเนื่อง หลังสิ้นสุดยุคคอมมิวนิสต์ของจอมพลยอซีป บรอซ ติโต (Josip Broz Tito) ชาติที่เคยยิ่งใหญ่ถูกแบ่งแยกทีละน้อย จากหนึ่งเดียว กลายเป็นเซอร์เบีย โครเอเชีย บอสเนียแอนด์เฮอร์เซโกวิน่า มอนเตรเนโกร มาเซโดเนีย สโลเวเนีย และโคโซโว และที่น่าสนใจ คือ ทีมเหล่านี้ล้วนสมัครเป็นสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า (UEFA) ใช้ “ฟุตบอล” แสดงออกถึงอัตลักษณ์ตัวตนของพวกเขา และยามใดที่คู่อริต้องมาเผชิญหน้ากันเอง ความตึงเครียดก็เพิ่มทวีคูณและฝังรากลึก ไม่ถูกถอนออกง่าย ๆ

แม้จะเข้าสู่ปี 2019 แต่ เฮนริกห์ มคิทาร์ยาน (Henrikh Mkhitaryan) นักฟุตบอลชาวอาร์เมเนีย ไม่ได้ลงเล่นนัดชิงยูฟ่า ยูโรปา ลีก ระหว่างอาร์เซนอล พบกับ เชลซี เนื่องจากเกมนี้แข่งขันที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่ง 2 ชาตินี้ไม่มีสัมพันธ์ทางการทูต หลังสงครามนากอร์โน-คาราบัค ที่สิ้นสุดเมื่อปี 1994 แม้ผ่านมา 25 ปี แต่ไฟแห่งสงครามการเมืองก็ยังคุกรุ่น และกระทบมาถึงพิธีกรรมอย่างฟุตบอลแล้วเราจะเรียนรู้อะไรจากฟุตบอล ที่ไม่อาจแยกออกจากการเมืองได้ จะปล่อยให้พลังแห่งชาตินิยมระเบิดสัญชาติญาณดิบและความบ้าคลั่งออกมา หรือรู้ทันและใช้มันอย่างเหมาะสม

 

ภาพกองเชียร์ทีมชาติญี่ปุ่น เก็บขยะบริเวณที่นั่งหลังจบเกม และทีมงานนักฟุตบอลเก็บกวาดห้องแต่งตัวพร้อมเขียนข้อความขอบคุณ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ทำให้พวกเขาได้รับการยกย่องอย่างสูง และเป็นแบบอย่างที่ดีที่หลายชาติเริ่มทำตาม รวมถึงขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ทั้งสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม การช่วยเหลือและส่งความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลก ให้ข้อความ Fair Play และ Say No to Racism ไม่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของพิธีกรรมฟุตบอลในมุมการเมือง

 

จตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง