กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเข้มข้น "ไข้เลือดออก" ลดลง

สังคม
10 ก.ย. 62
08:24
1,261
Logo Thai PBS
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเข้มข้น "ไข้เลือดออก" ลดลง
กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในหลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ยังเน้นให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้น

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการควบคุมสถานการณ์โรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น และมีแนวทางให้ประชาชนจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ยุงลายเกิดและกัดได้ จึงทำให้การเกิดโรคไข้เลือดออกในหลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลง และหลายพื้นที่ชะลอตัวลงจนสามารถควบคุมได้ เช่น จ.นครนายก ตราด ปราจีนบุรี อำนาจเจริญ บึงกาฬ และชุมพร แต่อย่างไรก็ตามยังต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อไป

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 ก.ย.2562 พบผู้ป่วย 81,500 คน เสียชีวิต 89 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบมากสุดคือกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-34 ปี และเด็กแรกเกิด-4 ปี ตามลำดับ โดยจากรายงานพบว่า ผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.2562 จำนวน 21,539 คน และในเดือน ส.ค.พบผู้ป่วยลดลงมาเป็น 12,979 คน แยกเป็นรายสัปดาห์จะพบว่าในช่วงนี้มีผู้ป่วยลดลงเหลือประมาณ 3,500 - 3,700 คนต่อสัปดาห์ จากที่เคยพบในช่วงฤดูการระบาดที่พบมากถึง 4,000 - 5,000 คนต่อสัปดาห์

ขณะที่องค์การอนามัยโลก เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ไข้เลือดออกในภูมิภาคอาเซียน พบว่าที่ประเทศฟิลิปปินส์ พบผู้ป่วย 208,917 คน เสียชีวิต 882 คน, เวียดนาม พบผู้ป่วย 124,751 คน เสียชีวิต 15 คน และมาเลเซีย พบผู้ป่วย 85,270 คน เสียชีวิต 121 คน

สธ.เน้น “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออก ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้

1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

สามารถป้องกันได้ 3 โรคคือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

หากมีอาการคล้ายไข้หวัด และมีอาการไข้สูงเฉียบพลันในตอนแรก อย่าซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาภายหลังและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เพราะยาบางชนิด เช่น ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น

การรักษาในระยะต้นที่มีไข้สูงใน 1-2 วันแรกไม่เป็นอันตรายใดๆ เว้นแต่ในคนที่ไม่ยอมหายหลังจากไข้ลด โดยช่วงไข้ลดมีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา อาจมีเลือดไหลที่โพรงจมูก อาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง