เตือนคนแพ้ "ฟอร์มาลีน" สารแช่สดอมตะในอาหาร

สังคม
10 ก.ย. 62
10:52
46,135
Logo Thai PBS
เตือนคนแพ้ "ฟอร์มาลีน" สารแช่สดอมตะในอาหาร
เตือนคนแพ้ "สารฟอร์มาลีน" ที่แอบนำมาใช่ในอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลสด-ผัก เพื่อให้สดนาน หมอระบุเป็นอันตรายกับผู้ที่แพ้หนัก โดยจะเกิดผื่นคันที่ผิวหนัง จนผิวไหม้ หากสูดดมในปริมาณมากเสียงเสียชีวิต เตือนหากตรวจพบโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

วานนี้ (9 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายชัชวาล อาร์สยาม หรือวิว นักร้องได้โพสต์อินสตาแกรม viewchutchawan_rsiam ในขณะที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลภูมิพล โดยมีใบหน้าแดง บวมปูดผิดรูป โดยมีสาเหตุมาจากอาการแพ้สารฟอร์มาลีน ในอาหารที่รับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

โดยระบุว่า แพ้อาหาร หรือ แพ้สารฟอร์มาลีน แช่อาหารให้สดใหม่ จากพ่อค้าแม่ค้าที่เห็นแก่ตัว อยากจะให้ของตัวเองดูสด ดูใช้งานได้ตลอดเวลาแต่คุณไม่คิดเลยว่าผู้บริโภคที่จะต้องได้รับผลกระทบมันจะเลวร้ายกับเขามากขนาดไหน จะทำอะไรฝากให้มีสติกันนิดนึง คุณทำขายเราเป็นคนกินมันต้องเริ่มจากคุณ ของดีของอร่อยมันสดได้เอง ไม่ต้องดองฟอร์มาลีนหรอก ควรเห็นใจลูกค้าที่เข้ามาซื้อคุณกิน นี่เท่ากับว่าคุณได้ให้ยาพิษเขาปางตาย

หมอแนะสังเกตอาการแพ้ฟอร์มาลีนในอาหาร

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ฟอร์มาลีน เป็นสารเคมีที่อยู่ในรูปของสารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ ในทางการแพทย์จะใช้ในการดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย ใช้ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดห้องผู้ป่วย หากเข้าสู่ร่างกายคนที่ยังมีชีวิต จะเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย จึงจัดเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 หากตรวจพบจะเข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

หากรับสารเข้าไประยะเฉียบพลันอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ แต่ขึ้นกับปัจจัยส่วนบุคคล รวมถึงสารเคมีที่ได้รับด้วย อาการระยะสั้น หากสูดดมเข้าไป จะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักแสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้

ส่วนผลต่อระบบผิวหนังคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรง และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้งคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว 

ส่วนผลระยะยาวสารฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารประกอบของฟอร์มาลีน เป็นสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย และปัจจุบัน ยังไม่มีระบบเฝ้าระวังเฉพาะในคน แต่หากมีรายงานผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน จะมีการสอบสวนโรคร่วมกับเรื่องอื่นๆ

รู้จัก "ฟอร์มาลีน"สารแช่สดอมตะ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เผยข้อมูลรู้จักฟอร์มาลีน ระบุว่า เคยมีคนตั้งข้อสังเกตกับผักสด หรืออาหารทะเลสดที่สดแบบอมตะนิรันดร์กาลโดย ไม่รู้จักเหี่ยว ทั้งที่ซื้อมาตั้งแต่วันก่อน อีกทั้งไม่ได้แช่ในตู้เย็นด้วย ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ในที่สุดจึงได้คำตอบว่าเป็นเพราะสารฟอร์มาลิน (Formalin) นั่นเอง

มารู้จักกับ “ฟอร์มาลีน” ฟอร์มาลีน เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งซึ่งมีพิษ ประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์  ละลายน้ำด้วยความเข้มข้นร้อยละ 37 โดยน้ำหนัก และมีเมทิลแอลกอฮอล์ ประมาณร้อยละ 10-15 เป็นองค์ประกอบด้วย มีลักษณะเป็นน้ำใส มีกลิ่นฉุน แสบจมูกและตา ใช้เป็นน้ำยาทำลายเชื้อโรค

ฟอร์มาลินในทาง การแพทย์นั้นใช้ในการดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย ใช้เป็นยาดับกลิ่นฆ่าเชื้อโรคเพราะทำให้โปรตีนแข็งตัว ทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจะใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าไม่ให้ย่น นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราในการเก็บรักษาธัญพืชหลังการ เก็บเกี่ยว และใช้เพื่อป้องกันแมลง แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร

 

ฟอร์มาลีน เจือปนในอาหารได้อย่างไร มีรายงานจากประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น และอิตาลี ว่าในผักผลไม้บางชนิด เนื้อสัตว์บางประเภท โดยเฉพาะสัตว์ทะเล และเห็ดหอม มีปริมาณของสารฟอร์มาลดีไฮด์ในธรรมชาติสูง แต่ปริมาณในระดับที่มีในอาหารเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

นอกจากนี้ฟอร์มาลีน ในรูปของสารเคมีได้ถูกนำมาใช้ในอาหารหลายประเภทด้วยความไม่รู้ถึงอันตรายโดยการนำฟอร์มาลินผสมน้ำราดใส่อาหารบางชนิด เช่น ปลาทู เนื้อหมู เพื่อป้องกันการเน่าเสีย

โดยอาหารเหล่านี้จะถูกแช่ฟอร์มาลินก่อนนำมาวางขายเพื่อให้มีความสดได้นาน ไม่เน่าเสียเร็ว รวมทั้งนี้ผักหลายชนิด โดยเฉพาะผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว แตงกวา หน่อไม้ ยอดมะพร้าว และอื่นๆ  

แต่อย่างไรก็ตาม ฟอร์มาลีนที่มีในธรรมชาติ หรือที่มาจากปุ๋ยและสารพิษฆ่าแมลงส่วนใหญ่จะมีปริมาณน้อยมาก คือ ไม่เกิน 1 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ในขณะที่ฟอร์มาลินที่จงใจฉีดหรือแช่ในผักหรือเนื้อสัตว์นั้น หากใช้ปริมาณมากเกินไปและมีตกค้าง ย่อมเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแน่นอน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย เผยผลสุ่มตรวจอาหารทะเล ตลาด 4 ภาค พบปลาหมึกกรอบปนเปื้อนฟอร์มาลีนมากสุด 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง