ประชาชนอาเซียนผิดหวัง พม.จัดเวทีแยก เหตุไม่ส่งชื่อผู้เข้าร่วมให้รัฐ

ต่างประเทศ
10 ก.ย. 62
14:14
4,108
Logo Thai PBS
ประชาชนอาเซียนผิดหวัง พม.จัดเวทีแยก เหตุไม่ส่งชื่อผู้เข้าร่วมให้รัฐ
กรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน แถลงผิดหวัง รัฐบาลไม่ให้เกียรติและไม่เคารพเสรีภาพภาคประชาสังคม แต่พร้อมจัดงานต่อ เตรียมส่งข้อมูลปัญหาให้ผู้นำอาเซียน ชี้จับตาการใช้งบประมาณ พม.จัดเวทีรัฐ เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่


เริ่มขึ้นแล้ว! "มหกรรมประชาชนอาเซียน 2019" (ASEAN Civil Society Conference ASEAN People’s Forum: ACSC/APF 2019) ภายใต้หัวข้อ Advancing People's Movement "ส่งเสริมการขับเคลื่อนของประชาชนเพื่อความยุติธรรม สันติภาพ ความเท่าเทียม ยั่งยืนและประชาธิปไตย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ซึ่งภาคประชาสังคมไทยร่วมกับภาคประชาสังคมจาก 10 ประเทศอาเซียน ร่วมจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 10 - 12 ก.ย.2562 ณ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี
 


ช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวของคณะกรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน นำโดย นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง และ นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานร่วมจัดงาน ระบุว่า ผิดหวังต่อการกระทำของรัฐบาล โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จัดเวทีคู่ขนานกับมหกรรมประชาชนอาเซียน โดยใช้งบประมาณและสถานที่ ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ซึ่งเตรียมการไว้แต่เดิม สำหรับจัดมหกรรมประชาชนอาเซียน 

สาเหตุสำคัญ ที่ไม่สามารถจัดร่วมกันได้ในที่สุด เนื่องจากคณะกรรมการจัดงานฯ ภาคประชาสังคม ไม่สามารถกระทำการที่จำกัดสิทธิการประชุมที่อิสระ โดยการส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงได้ จึงต้องย้ายสถานที่มายังศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต ด้วยการระดมเงินบริจาคลงขันกันเอง ส่วนเวทีที่รัฐบาลจัด กลับไม่มีเครือข่ายภาคประชาสังคมจากอาเซียนเข้าร่วม 

หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สร้างความสับสนให้กับภาคประชาชนอาเซียนมากมาย ทำให้เกิดความวิตกกังวลด้านความปลอดภัยในการเข้าร่วมของภาคประชาสังคมอาเซียนในครั้งนี้


นางชลิดา ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยต้องให้เกียรติและเคารพในเสรีภาพ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนอาเซียน โดยไม่เบียดบังและแทรกแซงอย่างเช่นที่กระทำอยู่ในขณะนี้ เพราะทำให้ศักดิ์ศรีของประเทศไทย ในฐานะประเทศประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกทำลายลง พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 9 ล้านบาท ว่าเป็นไปด้วยความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน จะดำเนินการจัดงานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน 2562 ต่อไป ให้บรรลุผลด้วยความสมานฉันท์ เพื่อยืนยันจุดยืน และแนวทางการรังสรรค์อาเซียนให้เป็นภาคภูมิที่สงบสุข ปลอดภัย และยั่งยืนอย่างแท้จริง พร้อมเชิญชวนประชาชนที่เห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้มาร่วมงานในครั้งนี้

สถานการณ์สิทธิอาเซียน น่าเป็นห่วง

สำหรับกิจกรรมภายใต้มหกรรมประชาชนอาเซียน ที่ภาคประชาสังคมร่วมกันจัด ได้แบ่งห้องรองรับการเสวนาในหัวข้อย่อยต่าง ๆ เช่น เวทีเสวนา "สถานการณ์และความท้าทายในประเทศไทย ในด้านต่าง ๆ" เช่น สิทธิของนักเคลื่อนไหวทางสังคม ความหลากหลายทางเพศ สิทธิสตรี สิทธิแรงงาน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์


น.ส.กรกนก คำตา เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง ระบุถึงปัญหาการลิดรอนสิทธิในการแสดงออกของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขู่ทำร้าย จับกุม และดำเนินคดีจากภาครัฐ สถาบันการศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องสิทธิ และสถาบันครอบครัว ที่ไม่เข้าใจในอุดมการณ์ของบุตรหลาน ทำให้เยาวชนหลายคนเกิดความเครียด


เธอยังกล่าวทั้งน้ำตา ถึงกรณีการจับกุมนักศึกษาในคดีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลังแชร์ข้อความของสำนักข่าวต่างประเทศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลให้ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักกิจกรรมทางสังคม ต้องโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ต้องขอสถานะลี้ภัยไปยังประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงเพื่อนคนอื่น ๆ ที่หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และหายตัวไปอย่างปริศนา พร้อมเรียกร้องให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสังคมอาเซียน

นายพฤ โอโดเชา นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำและความเสียเปรียบของกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านต่าง ๆ เช่น กลไกการตลาดที่ไม่เป็นธรรม จากการทำเกษตรที่ต้นทุนสูง แต่ถูกนายทุนกดราคาขายผลผลิตให้ต่ำเกินมาตรฐาน

รวมถึงปัญหาด้านสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างกรณี "บิลลี่" นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ที่เรียกร้องความยุติธรรม จากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผาบ้าน และยึดคืนพื้นที่อยู่อาศัยที่ทำกินในป่า ก่อนจะหายตัวไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 และพบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยการเปิดเผยของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา
 

 

นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนในประเด็นต่าง ๆ จากผู้ร่วมเสวนาคนอื่น ๆ เช่น การไม่ให้ความสำคัญต่อการเรียกร้องสิทธิสตรีในทางกฎหมายและนโยบาย และการไม่ได้รับความเป็นธรรมของแรงงานข้ามชาติ

หนึ่งในนั้น คือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ระบุว่าตนเป็นชาวโรฮิงญา ได้เรียกร้องให้ศาลอาเซียนสร้างความยุติธรรมต่อชาวโรฮิงญา ที่ถูกทำร้ายในประเทศเมียนมาร์ ทั้งจับกุม ล่วงละเมิดทางเพศ และฆ่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเมียนมาร์ไม่ควรกระทำกับคนชาติเดียวกัน


สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีตัวแทนภาคประชาสังคมกว่าพันคนเข้าร่วมพบปะ หารือ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตประชาชนอาเซียนผ่าน 7 กลุ่มประเด็นสำคัญ คือ 1) สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและการเข้าถึงความยุติธรรม 2) การค้าการลงทุนและอำนาจของภาคธุรกิจ 3) สันติภาพและความมั่นคง 4) การอพยพย้ายถิ่น การค้ามนุษย์และผู้ลี้ภัย 5) งานที่มีคุณค่า สุขภาพ และการคุ้มครองทางสังคม 6) ความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา 7) นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ และสิทธิทางดิจิทัล ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย.นี้ โดยจะมีการพบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จาก 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนิเซีย และบรูไน เพื่อสะท้อนปัญหาดังกล่าวให้ระดับผู้บริหารประเทศรับทราบ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อังคณา" จี้รัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหายฯ

52 ปี ประชาคมอาเซียน ภาค ปชช.ชี้ ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง 

กสม.แจงเดือด "ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์" ปมละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง