พม.แจง ข้อเสนอเวทีภาคประชาชน ไม่ถูกรวมเสนอในอาเซียนซัมมิท

ต่างประเทศ
11 ก.ย. 62
20:47
591
Logo Thai PBS
พม.แจง ข้อเสนอเวทีภาคประชาชน ไม่ถูกรวมเสนอในอาเซียนซัมมิท
เดินหน้าจัดเวทีคู่ขนานต่อ ระหว่าง "การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน" โดยกระทรวง พม. และ "มหกรรมภาคประชาชนอาเซียน" โดยเครือข่ายภาคประชาชน ด้าน "กระทรวง พม." แจง วัตถุประสงค์และกลุ่มผู้ร่วมงานต่างกัน ไม่นำข้อเสนอรวมเสนอผู้นำอาเซียน


วันนี้ (11 ก.ย.2562) วันที่สองของ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร จัดโดย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการเปิดเวทีหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน MSDHS SDGs (Ministry of Social Development and Human Security - SDGs) และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ในวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2562

น.ส.แสงดาว อารีย์ ผอ.กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัด พม.​ ระบุว่า การประชุมตลอดทั้ง 3 วันนี้ มีวัตถุประสงค์เปิดพื้นที่ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ส่วนต่าง ๆ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับกระทรวง พม. ได้ติดตามความก้าวหน้าในการทำงาน และแผนการทำงานในอนาคต ซึ่งมีการจัดประชุมไปแล้วกว่า 50 ครั้ง เพื่อเตรียมพร้อม ในการเข้าร่วมเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่จะถึงนี้

ส่วนกรณีที่มีการจัดเวทีคู่ขนานในนาม มหกรรมภาคประชาชนอาเซียน ACSC/APF 2019 (ASEAN Civil Society Conference ASEAN People’s Forum) น.ส.แสงดาว ระบุว่า มีวัตถุประสงค์และผู้ร่วมงานต่างกัน โดยข้อเสนอของเวทีดังกล่าว จะไม่ถูกนำมารวมกับส่วนของกระทรวง พม. (ประชาชนอาเซียนผิดหวัง พม.จัดเวทีแยก เหตุไม่ส่งชื่อผู้เข้าร่วมให้รัฐ)

เป็นการจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ต่างกัน ผู้ร่วมงานต่างกัน ข้อเสนอของเวทีดังกล่าว จะไม่ได้ถูกนำมาเข้ารวมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หากจะนำเสนอต่อผู้นำอาเซียน จะต้องติดต่อผ่านหน่วยงานที่จัดการประชุมฯ คือ กระทรวงการต่างประเทศ

"ไทย" ประเทศนำร่องแก้ปัญหาค้ามนุษย์

สำหรับการอภิปรายการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่ พม. รับผิดชอบ เช่น ความร่วมมือของประเทศอาเซียนต่อปัญหาการค้ามนุษย์ น.ส.สิริโสภา เตียนสำรวย นักสังคมเคราะห์ กองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางของกระบวนการค้ามนุษย์ ที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงได้รับความเห็นชอบจากประเทศอาเซียน ในการร่วมแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นประเด็นใหญ่เชิงอาชญากรรม

น.ส.สิริโสภา กล่าวอีกว่า จากการนำเรื่องดังกล่าวหารือกับผู้นำอาเซียนด้านต่าง ๆ พบว่า บางประเทศยังไม่มีกฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นช่องว่างในการจัดการแก้ปัญหา ส่วนประเทศไทย มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งปรับแก้มาแล้วถึง 3 ครั้ง

ประเทศอาเซียน มีความเห็นร่วมกันว่า ให้ประเทศไทย เป็นประเทศนำร่องในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งเด็ก สตรี และแรงงานชาย ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะต้องทำให้สำเร็จ หลังจากนี้ได้เตรียมจัดเวิร์คชอปวิธีแก้ปัญหากระบวนการค้ามนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศอาเซียนได้เรียนรู้ร่วมกัน

เดินหน้าแผนอาเซียนด้านสตรี

น.ส.สิริวรรณ เย็นตั้ง ผอ.กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค โดยกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนยุติความรุนแรงของเด็กและสตรี พร้อมเปิดรับข้อเสนอจากภาคประชาสังคม เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับการทำงาน และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจริง

เราได้จัดทำแผนอาเซียนด้านสตรี หรือ ACW Work Plan ร่างแนวทางผลักดันการให้ความรู้ กฎหมายสตรี สิทธิสตรี เพื่อให้สตรีและสังคมได้รับรู้ ทั้งด้านสุขภาพ อนามัย การเข้าถึงการรักษาต่าง ๆ และไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ ทั้งยังส่งเสริมการสร้างงานในสตรี ให้ผู้หญิงมีงานทำ สร้างศูนย์อบรมฝึกทักษะความรู้ในการสร้างงานอาชีพแก่สตรีฟรี และยกระดับแนวทางการเพิ่มศักยภาพของสตรีให้ได้มาตรฐานตามที่เวทีประชุมอาเซียนได้กำหนด

หวังความร่วมมืออาเซียน แก้ปัญหาเด็กชายแดนใต้

รอกีเย๊าะ นิมะ เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางมาจากจังหวัดยะลา ระบุว่าตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสามี เพราะเหตุการความไม่สงบ จึงต้องการให้ภาคส่วนต่าง ๆ หารือเพื่อสร้างความสงบให้กลับสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกครั้ง รวมถึงการส่งเสริมให้สตรีเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมาย โดยยกตัวอย่างกรณีเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ต้องแต่งงานก่อนวัยเหมาะสม เนื่องจากเข้าไม่ถึงการรับรู้ทางกฎหมายคุ้มครองเด็ก รวมถึงเสนอให้มีการสร้างแนวทางความร่วมมือของประเทศอาเซียน เพื่อคืนสันติภาพให้พื้นที่ชายแดนใต้

อยากให้ผู้นำอาเซียนเข้ามาดูแล อยากให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่พื้นที่สีแดง อยากให้ความรุนแรงลดลง หวังให้ผู้นำของอาเซียน หน่วยงานภาครัฐ และผู้ที่มีความเห็นต่าง หารือถึงทางออก สร้างความร่วมมือและความเข้าใจต่อกันใหม่ ไม่ให้แบ่งแยก


สำหรับเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน จัดโดยกระทรวง พม. เกิดขึ้นในวันเดียวกับ มหกรรมภาคประชาชนอาเซียน ACSC/APF 2019 ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต โดยก่อนหน้านี้ มีการแถลงข่าวจากคณะกรรมการจัดงานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน ระบุว่า ไม่สามารถร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในการจัดประชุมร่วมกันต่อไปได้ ทั้งที่เตรียมการร่วมกันมานานกว่า 2 เดือน จากประเด็นที่มีเงื่อนไขต้องส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 11 ประเทศให้กับกระทรวง พม. ซึ่งคณะกรรมการจัดงานฯ ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากต้องการคงไว้ซึ่งความอิสระและเคารพในสิทธิและเสรีของผู้เข้าร่วมประชุม เป็นผลให้กระทรวง พม. ยุติความร่วมมือและการสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวง พม. ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมที่ถูกจัดขึ้นทั้งสองแห่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชาชนอาเซียนผิดหวัง พม.จัดเวทีแยก เหตุไม่ส่งชื่อผู้เข้าร่วมให้รัฐ

ช่องว่างกฎหมาย “อุ้มหาย” ประเด็นร่วมประชาสังคมอาเซียน

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง