ฝีพายลายครามอายุรวม 6,000 ปี

ภูมิภาค
12 ก.ย. 62
11:40
591
Logo Thai PBS
ฝีพายลายครามอายุรวม 6,000 ปี
จ.พิจิตร สืบสานประเพณีแข่งขันเรือยาวย้อนยุค จัดฝีพายลายคราม ผู้สูงอายุกว่า 115 คน อายุรวมกันกว่า 6,000 ปี พายเรือย้อนอดีตฝีพายเรือ สร้างความสนุกสนาน ดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ผู้สูงอายุ

วันนี้(12 ก.ย.62) ที่วัดกำแพงดิน ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ทางคณะกรรมการวัดจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณี ณ ลำน้ำยม หน้าวัดกำแพงดิน โดยมีเรือยาวจากทั่วประเทศกว่า 40 ลำ ร่วมการแข่งขันในเรือยาว 3 ประเภท ได้แก่ 12, 30 และ 55 ฝีพาย

สีสันของการแข่งขันในปีนี้ เป็นการแข่งขันเรือยาวพิเศษ 2 ลำเรือ คือ เรือเพชรสยาม และ เรือเพชรประกายมาศ โดยทั้ง 2 ลำ ขนเอาฝีพายรุ่นเก่า หรือที่เรียกกันว่า ฝีพายลายคราม ที่มีอายุระหว่าง ตั้งแต่ 55 ถึง 70 กว่าปี ลงพายเรือ โดยฝีพายทั้ง 2 ทีม รวม 115 คน แต่งกายย้อนยุค สวมเสื้อสีสะท้อนแสง กางเกงขาก๊วย ผ้ายันต์โผกศรีษะ ส่วนใบพาย ใช้พายใบข้าว ซึ่งเป็นพายยุคเก่า แตกต่างจากปัจจุบัน ที่เปลี่ยนเป็นพายใบโพธิ์

บรรยากาศการแข่งขันเป็นไปด้วยความสนุกสนาน จากเรือเพชรสยาม ในชุดเสื้อสีเขียว เจอกับ เรือเพชรประกายมาศ ในชุดสีส้ม บรรดาฝีพาย ในแต่ละลำ เป็นอดีตฝีพายเรือรุ่นเก่า ที่มีอายุรวมกันในแต่ละลำประมาณ 3,000 ปี รวม 2 ลำ รวมอายุได้กว่า 6000 ปี พายกันมาเต็มกำลัง ตลอดระยะทาง 650 เมตร ท่ามกลางสายตากองเชียร์ ของแฟนเรือยาวนับพันคน สองฝั่งแม่น้ำยม ที่ลุ้นกับการแข่งขัน และลุ้นว่าเรือทั้งสองลำจะพายถึงเส้นชัยหรือไม่

นายสมัคร เพชรี อายุ 77 ปี ซึ่งเป็นฝีพายที่อายุสูงสุด กล่าวว่า ในหมู่บ้าน มีเรือเก่า 2 ลำ ซึ่งชาวบ้าน ล้วนเป็นฝีพายเรือของหมู่บ้าน เมื่อครั้งอดีต โดยการพายเรือทั้ง 2 ลำ จะใช้จับสลากเพื่อให้ฝีพายลงลำไหน การย้อนอดีตฝีพาย ที่มีอายุมาก ต่างมีความสุขมากที่ได้กลับมาพายเรือยาวอีกครั้ง เนื่องจาก

"เป็นกีฬาที่ชื่นชอบ ตนเองและฝีพาย สมัยอดีต รุ่นราวคราวเดียวกัน ได้มีโอกาสมาร่วมพายเรือยาว ซึ่งก็ดีต่อชุมชนเรื่องของความสามัคคี ดีต่อสุขภาพกาย และดีต่อสุขภาพจิต ของผู้สูงอายุ และ อยากให้มีการจัดกิจกรรมทุกปี"

สำหรับการแข่งขันเรือย้อนยุค ฝีพายลายคราม เป็นแนวคิดของพระครูศรีปริยัติวิฑูรย์ เจ้าอาวาสวัดกำแพงดิน รองเจ้าคณะอำเภอสามง่าม มีแนวคิดในการย้อนอดีต ด้วยการขึ้นทะเบียนฝีพายเรือยาวในอดีตอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันรวมได้แล้ว 180 คน เพื่อให้ฝีพายซึ่งเป็นผู้สูงอายุได้มีโอกาสย้อนอดีตในการพายเรือ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งความสามัคคี สุขภาพกาย และสุขภาพจิต เป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของการแข่งขันเรือยาว โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของเรือยาวในอดีต ให้กับคนรุ่นหลังอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง