เตือนมวลน้ำทะลักอุบลฯ สูงสุด 13 ก.ย.นี้ คาดใช้เวลาระบาย 10 วัน

ภัยพิบัติ
12 ก.ย. 62
15:14
4,435
Logo Thai PBS
เตือนมวลน้ำทะลักอุบลฯ สูงสุด 13 ก.ย.นี้ คาดใช้เวลาระบาย 10 วัน
กรมชลประทาน ระบุวิกฤติน้ำมูลมากสุดถึง อ.วารินชำราบ และอ.เมือง จ.อุบลราชธานี พรุ่งนี้ (13 ก.ย.) หนักสุดในรอบ 17 ปี คาดใช้เวลาระบายอีก 10 วัน อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันน้ำค้างทุ่งจากฝนตกหนักพายุ ไม่เกี่ยวการระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่

วันนี้ (12 ก.ย.2562) สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ปีนี้ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 17 ปี มีชาวบ้านที่บ้านเรือนอยู่ในที่ลุ่มติดแม่น้ำมูล ในเขต อ.วารินชำราบ และ อ.เมือง ได้รับความเดือดร้อนกว่า  10,000 คน ทำให้ต้องส่วนใหญ่อพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิง และสร้างเพิงพักอยู่ริมถนน 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความทาง Prayut Chan-ocha@prayutofficial ว่า ผมขอให้พี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีเตรียมความพร้อมรับมวลน้ำจำนวนมากที่จะไหลผ่าน อ.เมืองอุบลฯ วันพรุ่งนี้ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขอให้ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ และหากต้องการความช่วยเหลือสายด่วน 1784 #ขอให้ทุกคนปลอดภัยครับ

 

ใช้เวลา 2 สัปดาห์ระบายน้ำเมืองอุบลฯ

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติด ตามสถานการณ์น้ำจากลุ่มน้ำชี และน้ำมูลจะไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิป ไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พบว่าระดับน้ำเพิ่มเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 1 เซนติเมตร ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว โดยมีปริมาณน้ำใประมาณ 4,500– 5,600 ลบ.ม.ต่อวินาที และคาดว่าจะสูงสุดวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) มากกว่า 5,100 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นระดับน้ำทรงตัว 5-7 วัน และหลังจากนั้นจะเริ่มลดลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยน้ำจะไหลลงไปในลำน้ำจนไม่ล้นตลิ่งอาจจะถึงสิ้นเดือนก.ยนี้

ถ้าเทียบกับปี 2545 จุดนี้ถือว่าระดับล้นตลิ่งทุบสถิติในรอบ 17 ปี ซึ่งเคยมีน้ำสูงสุด 10.77 เมตร แต่วันนี้ทะลุ 10.88 เมตรหรือสูงกว่า 10 เซนติเมตร ซึ่งปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมอุบลฯ มาจากฝนตกหนัก จากอิทธิพลพายุโพดุล และทาจิกิ ทำให้มีน้ำค้างทุ่งปริมาณมาก ไม่เกี่ยวกับระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ 2 แห่ง 
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

นายทองเปลว กล่าวว่า  ถึงแม้แนวโน้มจะใกล้เคียงกับปี 2545 แต่การรับมือ และความพร้อมในการเร่งระบายน้ำจะรวดเร็วขึ้น โดยล่าสุดกรมชลประทาน ร่วมกับ สทนช.และท้องถิ่น เพิ่มเรือผลักดันน้ำเป็น 60 เครื่องจากเดิม 30 เครื่อง และเร่งผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด 

ด้านนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กล่าวว่า ระดมเจ้าหน้าที่ 260 นาย ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ของรพ.สัมประสิทธิประสงค์ ขนย้ายข้าวของชาวบ้านขึ้นที่สูง ช่วยบรรจุกระสอบทรายเพื่อทำสันกั้นน้ำชั่วคราว #ThaiPBSnews

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำท่วมหนักมาก #Saveubon ช่องทางแจ้งขอความช่วยเหลือน้ำท่วม

 

 

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง