ดาวเคราะห์น้อย 2000QW7 โคจรใกล้โลก 15 ก.ย.นี้

Logo Thai PBS
ดาวเคราะห์น้อย 2000QW7 โคจรใกล้โลก 15 ก.ย.นี้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อย 2000 QW7 แวะเวียนมาใกล้โลกอีกครั้ง โดยจะอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 5 ล้านกิโลเมตร หรือ ประมาณ 14 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ ยืนยัน ไม่ชนโลกแน่นอน แม้อยู่ในรายชื่อวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อย 2000 QW7 กำลังจะโคจรเข้าใกล้โลกในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เวลา 06.54 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยจะอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 5 ล้านกิโลเมตร หรือ ประมาณ 14 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ เช่นเดียวกับดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นที่เข้ามาใกล้และผ่านไปโดยไม่เกิดการชนใดๆ สิ่งที่ทำให้ 2000 QW7 ได้รับความสนใจคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 650 เมตร ใกล้เคียงกับความสูงของตึก บุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ (Burj Khalifa) อาคารที่สูงที่สุดในโลกในประเทศดูไบ

ในทางเทคนิค 2000 QW7 อยู่ในรายชื่อของวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก (Potentially Hazardous Object) เพราะระยะห่างตอนที่เข้าใกล้ที่สุดน้อยกว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (2000 QW7 ห่างแค่ 0.036 หน่วยดาราศาสตร์) จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยมีเครือข่ายของหอดูดาวทั่วโลกคอยเฝ้าสังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูล เพราะข้อมูลละเอียดมากขึ้น ยิ่งทำให้การคำนวนเส้นทางการโคจรแม่นยำขึ้น


นับตั้งแต่ระบบติดตามวัตถุใกล้โลกของนาซา NEAT (Near-EarthAsteroid Tracking) ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2543 มีการเก็บข้อมูลดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 943 ครั้ง ซึ่งแม่นยำพอที่จะยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไม่ชนโลกอย่างแน่นอน

วงโคจรของ 2000 QW7 ไม่ได้ตัดกับวงโคจรของโลก แค่ทาบกับวงโคจรของโลก เรียกลักษณะการโคจรแบบนี้ว่า เอเมอร์ (Amor) ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ 2.72 ปี นักวิทยาศาสตร์คำนวนว่าช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลกจะมีความเร็ว 23,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ เพราะทิศทางของดาวเคราะห์น้อยไม่ได้มุ่งมาที่โลก ยังคงเดินทางไปตามเส้นทางโคจรปกติ

แม้เรามักได้ยินคำว่า “เฉียด” กับการเข้ามาใกล้ของดาวเคราะห์น้อย แต่เมื่อใช้เทียบกับการบอกระยะห่างของวัตถุในระบบสุริยะ อาจจะไม่ตรงความหมายเท่าใดนัก เพราะยังถือว่าห่างไกลจากระยะที่มนุษย์คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน อีกทั้งดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ยังเคยเข้ามาใกล้โลกแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นการค้นพบครั้งแรก และไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น


ปัจจุบัน เราพบว่ามีดาวเคราะห์น้อยผ่านเข้ามาใกล้โลกเกือบทุกวัน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ด้วยระยะห่างที่แตกต่างกัน ความกังวลเรื่องวันสิ้นโลกที่เกิดจากอุกกาบาตชนจึงเป็นเหมือนเรื่องล้อเล่นเพราะการชนที่สร้างความเสียหายให้กับโลกในระดับที่เรียกว่า “โลกแตก” เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อประมาณ 60 ล้านปีก่อนในยุคไดโนเสาร์ และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรือนาซา ยังเคยแถลงในหน้าเว็บไซต์ว่า “ในอีก 100 ปี จะไม่มีการพุ่งชนในระดับทำลายล้างมนุษยชาติเกิดขึ้นแน่นอน”

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก พร้อมวันเวลาที่เข้าใกล้ ระยะห่างและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ได้จากเว็บไซต์ https://minorplanetcenter.net/data ของหน่วยงานสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล และยังสามารถหาข้อมูลอย่างละเอียดย้อนหลังได้จากศูนย์ข้อมูลวัตถุใกล้โลกที่เป็นของนาซา/เจ พี แอล ( NASA/JPL) https://cneos.jpl.nasa.gov/ca/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง