นวัตกรรม "ข้าวเหนียวหมูย่าง" สเตอริไลซ์ส่งน้ำใจช่วยชาวอุบลฯ

Logo Thai PBS
นวัตกรรม "ข้าวเหนียวหมูย่าง" สเตอริไลซ์ส่งน้ำใจช่วยชาวอุบลฯ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มมส หลังโซเชียลชื่นชมและส่งต่อ แพค "ข้าวเหนียวหมูย่าง" สเตอริไลซ์ อยู่นอกตู้เย็นได้ 2 ปี ไม่เน่าไม่เสีย เพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี

วันนี้ (14 ก.ย.2562) ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า ได้ทราบข่าวน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคอีสาน โดยเฉพาะที่ จ.อุบลราชธานี จึงคิดว่าต้องการให้ความช่วยเหลือคนในพื้นที่ตามความสามารถที่มีอยู่ จนต้องการผลิต "ข้าวเหนียวหมูย่าง" สเตอริไลซ์ ที่ไม่เน่าไม่เสีย ในโครงการ "กล่องข้าวน้อยให้แม่" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิทานท้องถิ่น จ.ยโสธร "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" ที่มีการอัดข้าวเหนียวไว้แน่นในกล่องข้าวเล็กๆ จนดูเหมือนมีน้อยแล้วลูกก็ฆ่าแม่เพราะโมโหหิว แต่สุดท้ายก็กินข้าวไม่หมด ซึ่ง "ข้าวเหนียวหมูย่าง" ที่ผลิตขึ้นนี้ก็มีบรรจุภัณฑ์ที่เล็ก ขนส่งง่าย แต่อัดแน่นไปด้วยข้าวเหนียว 120 กรัม และหมูย่าง 50 กรัม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประสบอุทกภัยอิ่มแน่นอน

ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin


สำหรับกระบวนการผลิต ได้เริ่มรวบรวมบรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบ เงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดหาวัตถุดิบ และจิตอาสาตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยจิตอาสาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในภาควิชาฯ ที่อยู่ในช่วงเตรียมสอบ แต่ทุกคนก็พร้อมใจที่จะเข้ามาช่วยผลิตเพื่อส่งต่อให้ผู้ประสบอุทกภัย ขณะที่วัตถุดิบอื่นๆ ผู้ประกอบการที่ทราบว่าจะนำมาช่วยเหลือชาวอุบลฯ ที่เดือดร้อน หลายร้านก็ได้ร่วมบริจาควัตถุดิบ และลดราคาสินค้าให้

เงินบริจาคเราเปิดรับบริจาคไม่นาน แต่เงินที่ได้มันเกินคาดมาก ได้มาเป็นเงินแสน ซึ่งไม่คิดว่าคนจะยอมโอนเงินหลักพัน มาช่วยเหลือคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแบบนี้ รู้สึกดีใจมาก แล้วก็อยากผลิตกล่องข้าวน้อยให้แม่ออกมาอย่างดีที่สุด
ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin


เมื่อได้วัตถุดับและจิตอาสามาแล้ว ก็ต้องมีการนึ่งข้าวเหนียว และหมักหมู ก่อนจะนำไปย่าง และแพคใส่บรรจุภัณฑ์อย่างดี จากนั้นจะนำไปซีล และเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์ ซึ่งต้องใช้เวลานาน เนื่องจากการอัดตัวของข้าวเหนียวทำให้การส่งผ่านความร้อนช้า จึงต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง 

ผลิตเข้าเครื่องฆ่าเชื้อได้รอบละ 84 ชุด โดยแต่ละรอบใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ทำให้ต้องใช้เวลาพอสมควร เมื่อคืนก็ได้ผลิตทั้งคืนยังไม่ได้นอนเลย เพื่อจะได้นำไปช่วยผู้ประสบภัยได้เร็วที่สุด

อยู่นอกตู้เย็นได้ 2 ปี ไม่เน่าไม่เสีย

หลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว "ข้าวเหนียวหมูย่าง" จะไม่เน่าไม่เสีย เก็บนอกตู้เย็นได้ 2 ปี เหมาะสำหรับพื้นที่น้ำท่วมหนักที่ขนส่งอาหารสด อาหารแห้งอื่นๆ ไม่สะดวก โดยผู้ประสบภัยสามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น แต่ข้าวเหนียวอาจจะแข็งกว่าปกติ เพราะเป็นธรรมชาติของข้าวเหนียว หากต้องการให้รสชาติอร่อยแบบดั้งเดิมสามารถนำไปต้ม 3-5 นาที และอุ่นในไมโครเวฟ 1-2 นาที โดยไม่ต้องนำออกจากถุง เพราะถุงที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนความร้อนได้ 100-120 องศาสเซลเซียส โดยด้านข้างถุงจะมีสติ๊กเกอร์อธิบายส่วนประกอบและวิธีบริโภคไว้อย่างชัดเจน

ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin


ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดนี้ ได้มีการทำการทดลองเพื่อประมวลขั้นตอนและสูตรก่อนการผลิตจริง โดย ดร.อัศวิน  ระบุว่า การจะผลิตข้าวสเตอร์ไรซ์แบบนี้ จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ส่วนตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญการแปรรูปอาหาร ด้าน Thermal processing จึงได้มีความชำนาญในการทดลอง วิเคราะห์ และประเมินผล ซึ่งการฆ่าเชื้อถือเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะต้องทำให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมาย โดยกล่องข้าวน้อยให้แม่นี้ได้ทำตามหลักเกณฑ์อย่างครบถ้วน เนื่องจาก ดร.อัศวิน ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ที่สามารถควบคุมเครื่องมือฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้

ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin

 

ขอจิตอาสาช่วยแพค "กล่องข้าวน้อยให้แม่"

ดร.อัศวิน ตั้งเป้าผลิตกล่องข้าวน้อยให้แม่ 10,000 ชุด แต่เนื่องจากยังขาดจิตอาสาที่จะมาช่วยแพคข้าวเหนียวและหมูย่างใส่ในบรรจุภัณฑ์ เบื้องต้น จึงจะเร่งผลิตให้ได้ 2,000 ชุด เพื่อนำส่งผู้ประสบภัยในพื้นที่ก่อน โดยผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรืออยู่ใน จ.มหาสารคาม สามารถเข้าไปช่วยแพคข้าวได้ที่ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี ในวันนี้และวันพรุ่งนี้ (14-15 ก.ย.)  ส่วนเงินบริจาคที่เหลือจากการซื้อวัตถุดิบต่างๆ ดร.อัศวิน ได้จัดซื้อยา เวชภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อนำไปบริจาคให้ผู้ประสบภัยที่ จ.อุบลราชธานี ภายในวันที่ 15 - 16 ก.ย.นี้

ในอนาคตไม่อยากให้เกิดอุทกภัยขึ้นอีก แต่หากมีน้ำท่วมแล้วผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือ อาจมีการพัฒนาให้การผลิตมีประสิทธิภาคเพิ่มขึ้น เบื้องต้น อาจแนะนำให้นักศึกษาที่คณะได้นำไปเป็นโมเดลศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมกับอาหารประเภทอื่นด้วย
ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin

ภาพ : Aswin Amornsin

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง