ถอดการเมืองไทย ผ่านสายตา "วิทยากร เชียงกูล"

การเมือง
14 ก.ย. 62
16:28
1,660
Logo Thai PBS
ถอดการเมืองไทย ผ่านสายตา "วิทยากร เชียงกูล"
"วิทยากร เชียงกูล" วิจารณ์การเมืองไทย เทียบ "คุณภาพ ส.ส." ผ่านการศึกษาและคนในสังคม ณ วันที่ "ผู้แทนฯ" และประชาธิปไตย ถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพ

"วิทยากร เชียงกูล" นักคิดนักเขียนคนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังวรรณกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนเดือนตุลาฯ โดยเฉพาะ "เพลงเถือนแห่งสถาบัน" บทกลอนที่สั่นคลอนความคิดของนักศึกษาสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือน ต.ค. 2516

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

"เพลงเถือนแห่งสถาบัน" ช่วยตั้งคำถามกับหมุดหมายของชีวิตและการศึกษาที่แท้ ณ ช่วงหนึ่งของยุคสมัย ที่ผู้คนสั่งสม "ปัญหา" ด้วย "ปริญญา" เท่ากับค่านิยมที่ถูกนิยาม

นับแต่ ต.ค. 2516 รวม 46 ปี ที่สังคมยังติดกับดักของการศึกษา และ ประชาธิปไตย ขณะที่เสาหนึ่ง ใน 3 เสาโครงสร้างอำนาจ คือ "สภาฯ" ถูกครหาว่าต้นตอของความเสื่อม หลากวาทกรรมทั้ง สภาผัวเมีย สภาทาส สภาตรายาง ที่ติดเงื่อนการเมือง พร้อมกับชูภาพ ส.ส.เสื่อม ผ่านพฤติกรรมไม่เหมาะสม

เป็นข้ออ้างของความไม่คู่ควรที่จะดำรงอยู่ และแลกมากด้วย "สภาแต่งตั้ง" และรัฐประหาร

วันนี้สมาชิก "ผู้แทนราษฎร" หรือชื่อย่อ ส.ส. ถูกตั้งคำถามอีกครั้งถึง "คุณภาพ" ของ ส.ส.

เมื่อเผชิญกับวิกฤตศรัทธา ผ่านภาพ ส.ส.กร่าง -ส.ส.วางมวย และการโต้แยง หรือบางมุมมองว่าขัดแย้งในสภาฯ 

ปมเหล่านี้ อาจารย์วิทยากร จะช่วยไขปัญหา ด้วยหมวกหลายใบที่เคยสวมใส่ในวัย-วาน ผ่านมา 73 ปี ทั้งบทบาทนักคิดนักเขียน นักวิชาการ ที่อยากเห็นการศึกษาพัฒนาคน สังคม การเมือง และประชาธิปไตย

และวันที่เรากำหนดว่า คนจะเป็น "ผู้แทนฯ" ต้องจบ "ปริญญาตรี" เป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นหลักประกันคุณสมบัติขั้นต้น

Q : ยุคหนึ่งเราคาดหวังต่อสภาฯ วันนี้มี ส.ส. และมีบางส่วนเป็น ส.ส.กร่าง-ส.ส.ก้าวร้าว

A : มันสะท้อนสังคมไทย ว่าคนส่วนใหญ่เป็นแบบไหน ส.ส.ก็เป็นแบบนั้น แต่ก็ปนกันนะ ส.ส.ความรู้ดีมีข้อมูลพูดจาดีก็มี ส.ส.ประเภทกร่าง แบบชาวบ้าน แบบนักเลงโตก็มี เพราะว่าบางทีชาวบ้านก็ชอบคนแบบนี้ ชอบคนที่กล้าพูดกล้าด่า แต่บางคนเป็นบุคลิกส่วนตัว ไม่ใช่เป็นเพราะประชาชนชอบหรอก

คนบางประเภทติดที่ตัวเองหรือวุฒิภาวะทางอารมณ์มีน้อย คือชอบวิจารร์ นินทา ด่าว่า หรือใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ไม่เฉพาะ ส.ส.หรอก แต่คนทั่วไปก็เป็นนะ นักวิชาการก็เป็น (หัวเราะ) แต่ ส.ส. เห็นชัด เพราะเราคาดหวังว่า ส.ส. ต้องมีความรัดมัดระวัง เมื่อคุณพูดในที่สาธารณะ ประชาชน-นักเรียนดูอยู่ คุณเป็นคนเป็นคนสาธารณะควรเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นคุณต้องระมัดระวังตัวมากกว่านี้

หรือบางคนเขาคิดว่าเขาเป็น ส.ส. แล้วทำอะไรก็ได้ มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่

Q : มองว่าเป็นเรื่องของบุคคล หรือเป็นเพราะโครงสร้างของสังคม

A : มันเป็นทั้ง 2 อย่าง เพราะบุคคลก็มาจากการศึกษา สภาพแวดล้อม และค่านิยม เช่น ค่านิยมแบบยกย่องคนกล้าพูด-กล้าด่า เลยทำให้คนกร่าง หรือชอบยกย่องคนมีอำนาจ เมื่อคิดว่ามีอำนาจแล้วจะพูดอะไรก็ได้-ไม่ผิด เพราะมีประชาชนหนุนหลัง

มันเป็นความคิดที่ผิดพลาด ความจริงแล้วต้องมองว่า ส.ส.เป็นผู้ที่จะมาทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเขตที่คนเลือกมา แต่เป็น ส.ส.ของคนทั้งประเทศ และมักคิดแบบจิตวิทยาของ "พวกเรา" คือคิดแบบพวกใครพวกมัน พวกตัวเองก็จะเชียร์และเห็นแต่ข้อดี ถ้าคนอื่นหรือพรรคตรงข้ามจะมองเป็นศัตรูและมีอคติ ซึ่งจะเป็นปัญหาจิตวิทยาส่วนบุคคล โดยเฉพาะคนที่ไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากพอ

Q : เมื่อสภาฯ มีคนรู้-คนไม่รู้ และมีคนดี-คนไม่ดี อาจารย์ยังหวังกับสภาฯ ไหม

A : ไม่รู้ แต่ยังคิดว่าเป็นวิธีที่ดีกว่าการยึดอำนาจ หรือแต่งตั้ง ส.ว. ที่มีแต่พรรคพวกตนเอง มีแต่ทหาร-ตำรวจที่มีความรู้ความสามารถจำกัด แต่ ส.ส. ยังมีความหลากหลายกว่า และยังมีโอกาสที่พอจะได้คนมีความรู้ในเรื่องต่างๆ การมีรัฐบาล-ฝ่ายค้าน คอยตรวจสอบซึ่งกันและกันน่าจะดีกว่า อย่างไรแล้วระบบนี้ต้องพัฒนาต่อ เพียงแต่เราจะพัฒนาปรับปรุงอย่างไรให้ได้ ส.ส. ดีกว่านี้

เช่น หลายๆ ประเทศ ส.ส.เขต ต้องได้เสียงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเสียงไม่ถึงในรอบแรก ก็ต้องเลือกรอบ 2 โดยเอาที่ 1 และที่ 2 มาแข่งกัน ซึ่งจะทำให้คนรอบคอบมากขึ้น การซื้อเสียงจะยาก และคนที่สุดโต่งอาจจะได้รับเลือกยาก แม้รอบแรกจะเข้ามาได้ แต่รอบสองยาก

Q : การศึกษา มีส่วนสร้างคนและสังคม กลอนที่เขียน(เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน) ยังใช้ได้ไหม 

A : ยังสะท้อนสังคมาอยู่ เราไม่สนใจกระบวนการเรียนรู้ เราสนใจแต่เรื่องปริญญา หรือ ประกาศนียาบัตร คนไปเรียนเพื่อสอบและได้คะแนน แต่ไม่รู้จะพัฒนาตนเองหรือเรียนรู้อย่างไร ไม่พัฒนาอุปนิสัย วุฒิภาวะ และจิตสำนึกต่อส่วนรวม เราละเลยเรื่องพวกนี้และเน้นแต่วิชาชีพ-วิชาการ โดยการพัฒนาความเป็นมนุษย์ถูกละเลย

คนจบมาการศึกษาสูง ออกมาต่อยกันก็มีนะ เพราะมันไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์

Q : ส.ส.ไม่ต่างกัน ที่จบการศึกษาสูงแต่ไม่ได้ประกันว่าจะมีวุฒิภาวะ

A : ใช่ มันมีทั้งคนเข้าท่า-ไม่เข้าท่า เป็นบุคลิกด้านอารมณ์

Q : การศึกษาช่วยพัฒนาคนและการเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน

A : พัฒนาน้อย แต่บางส่วนดีขึ้น เช่น ส.ส.รุ่นใหม่ก็ใช้ได้ แต่คนรุ่นเก่ามันแก้ยาก (หัวเราะ) บางทีเราคิดว่าจะเปลี่ยนนิสัยเขาภายหลังได้-แต่มันไม่ได้ เช่น สถาบันพระปกเกล้า จัดฝึกอบรม ส.ส. และผู้นำต่างๆ แต่เป็นผู้ใหญ่แล้วมันเปลี่ยนยาก เขาไปเรียนอย่างนั้น ไปเพื่อสร้างเครือข่ายคอนเนกชั่น แล้วเอาประกาศนียบัตรไปอวดกัน ไปรับฟังข้อมูลบ้าง แต่ไม่ได้รับฟังเพื่อเปลี่ยนแปลง

Q : กว่า 40 ปี ที่หวังกับประชาธิปไตย วันนี้มองสังคมแล้วมีความหวังไหม

A : พูดยากนะ กระแสมันขึ้นๆ ลงๆ กระแสเป็นเรื่องแปลกอย่างช่วง 14 ต.ค.2516 ประชาชนตื่นตัวมาก การเลือกตั้งก็ได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพเข้ามา แต่พอตอนหลังมันตกต่ำ เพราะความนิยมการพัฒนาทุนนิยม คนเห่อเรื่องการบริโภค การมีเงิน และมีประชานิยมเข้ามา

การเติบโตของประชาธิปไตยจึงเป็นเชิงปริมาณ คนใฝ่รู้น้อยลง อ่านหนังสือน้อย และมีความอยากมากขึ้น ก็ได้ ส.ส.แบบประชานิยม

แต่ด้านหนึ่งตอนนี้มีแหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารมากขึ้น การที่จะทำอะไรแบบเชยๆ จะโดนโจมตีมากขึ้น เพราะมีสื่อทางสังคม (โซเชียลมีเดีย) ใครทำอะไรไว้ ทุจริตหรือทำไม่ดีจะโดนเปิดโปง ไม่สามารถปิดปังซ่อนเร้นได้ ดังนั้นส่วนดีมันก็มี แต่ยังไม่ดีพอ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัว ไม่เน้นข้อมูลเพื่อตรวจสอบนักการเมืองหรือชนชั้นำมากพอ

Q : การตรวจสอบรัฐมนตรีช่วยท่านหนึ่งที่มีปัญหา คดีเก่า ถูกปลดราชการ และถูกกล่าวหาว่าใช้ปริญญาปลอม ถือเป็นความใช้ข้อมูลตรวจสอบไหม

A : ใช่ เป็นการขุดหาข้อมูล จริงๆ มีข่าวแบบนี้ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ควรเข้าไปมีส่วนตรวจสอบ ซึ่งไม่ยากเลย แค่ขอข้อมูลจากออสเตรเลียเพื่อยืนยัน หรือเขาอาจส่งมาแล้วแต่เราไม่สนใจจะตรวจสอบเอง ตามหลักข้าราชการถูกจับในต่างประเทศน่าจะมีข้อมูล

Q : เพลง "เต้าหู้ยี้" เคยถูกใช้เทียบ ครม.ยุคหนึ่ง ยุคนี้จะถูกมองอย่างนั้นไหม

A : (หัวเราะ) ก็มีส่วน ถ้าประเด็นแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่แก้ปัญหา แต่ไปปกป้องเขาผมว่าเสีย-ผมว่ามันเสื่อม เพราะเรื่องแบบนี้คนรู้สึกว่ารุนแรง เพราะคุณมีประวัติไม่สะอาด ไม่ใช่แง่กฎหมายเท่านั้น แต่แง่จริยธรรมคนก็คิดว่าไม่สมควรเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี

Q : เทียบกรณีนี้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เคยเป็นตำบลกระสุนตก

A : ผมว่ามันชัด(กรณีรัฐมนตรีช่วย) เพราะกรณี พล.อ.ประวิตร ยังต้องไปสืบหานาฬิกาเพื่อน แต่นี่ชัด แค่ขอหลักฐานจากออสเตรเลียก็ชัดแล้ว และมีการอ้างตรรกะแบบแปลกๆ เช่น บอกว่าติดคุกในต่างประเทศไม่เกี่ยวกับติดคุกไทย หรือเรื่องมันจบไปแล้วอย่างเนียะนะ หรือพูดว่ารัฐบาลอื่นก็มีตำหนิเหมือนกัน เหตุผลนี้มันแย่มากเหมือนกัน ถ้าประชาชนฟังเหตุผลแบบนี้แล้วเชื่อ แสดงว่าเราระบบคิดไม่ค่อยแม่นย้ำเรื่องเหตุผลหรือหลักจริยธรรม

Q : หลักจริยธรรมคนอ้างบ่อย มุมมองของอาจารย์คืออะไร

A : อะไรที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมจริยธรรม เท่ากับไม่ถูกต้อง อย่างยาเสพติดผิดทั้ง 2 ด้าน เพราะเสียหายเยอะ เรื่องพวกนี้มันพูดยาก ถ้าสมมติเจ้าตัวสารภาพว่าทำผิดไปแล้ว และมาบอกว่าไม่ทำผิดอีกแล้ว ผมว่ายังพอฟังขึ้น แต่นี่พูดกะล่อนไปเรื่อย แก้ตัวไปเรื่อย ไม่มีหลักฐานยืนยัน-ว่าไม่จริง อย่างนี้ก็ไม่ไหวแล้ว

Q : ฝั่งรัฐมนตรีช่วยอ้างว่าไม่ได้ทำผิด แต่สื่อนอกมีข้อมูลเทียบเคียง

A : ผมว่าน่าจะมีหลักฐานชัด เพราะสื่อออสเตรเลียที่เปิดเผยข้อมูลเป็นสื่อเก่าแก่ ไม่ใช่แบบหนังสือพิพม์ตีข่าวโคมลอย เขามีข้อมูล-ไม่อย่างนั้นเขาไม่กล้า ปัญหาคือฝ่ายไทยควรขอข้อมูลจากออสเตรเลีย เพราะข้อมูลมีอยู่แล้ว แต่นี่ไม่กล้าขอ ทำเรื่องให้มันเงียบๆ ไปซึ่งมันไม่ถูก

 

แม้ข้อมูล-ข้อเท็จจริง เรื่องวุ่นวายทางการเมืองยังไม่ถูกพิสูจน์

แต่การเดินทางของหนังสือ "ฉันจึงมาหาความหมาย" ของอาจารย์วิทยากร ที่เริ่มเดินทาง ปี 2516 อย่างน้อยก็ได้ข้อพิสูจน์หนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เป็นพลวัตร มีขึ้น-มีลง มีโอกาสที่จะเห็น ส.ส. น้ำดี และวิถีประชาธิปไตยที่แบ่งบาน สลับกับวันที่ความหวัง-บางครั้งร่วงโรย

ภาพผู้แทนฯ วันนี้ ไม่ใช่ภาพสะท้อนของสภาฯ แต่เป็นภาพสะท้อนสังคม ทั้ง "เรา" ในฐานะประชาชน และฐานะที่เป็นผู้เลือก "ผู้แทนฯ" เข้าทำหน้าที่ค้ำยันเสาของประชาธิปไตย

ถ้าว่าวันนี้ "เรา" มองว่า "ผู้แทนฯ" หรือประชาธิปไตย ยังเยาว์-ยังเขลา นั่นก็เป็นภาพสะท้อนของสังคม "เรา" เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง