ย้อนเส้นทางเสือโคร่งของกลาง 147 ตัว

สิ่งแวดล้อม
14 ก.ย. 62
18:44
4,207
Logo Thai PBS
ย้อนเส้นทางเสือโคร่งของกลาง 147 ตัว
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบเส้นทางเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี หลังจากผ่านมา 3 ปีเพิ่งกลับมาอยู่ในกระแสข่าวอีกครั้ง หลังจากมีการยืนยันพบเสือโคร่งติดโรคหัดสุนัขในกลุ่มเสือ และมีอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง 86 ตัวจากของกลาง 147 ตัว

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีปัญหามานานถึง 18 ปีเต็ม นับจากปี 2544 ที่กรมป่าไม้ในยุคนั้นยึดเสือโคร่งของกลาง เพราะไม่มีใบอนุญาตครอบครองตามกฎหมาย หากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์มีดังนี้

2542

ข้อมูลเว็บไซต์ของทางวัดระบุว่า เมื่อปี 2542 เสือตัวแรกที่มาอาศัยที่วัดเป็นลูกเสือป่วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ วัดจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน และยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านนำสัตว์ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น สัตว์ป่วย สัตว์ที่หลงทาง มาให้ช่วยดูแล

12 มิ.ย.2544

กรมป่าไม้ เข้าตรวจสอบ และยึดเสือเป็นของกลางในคดี เนื่องจากวัดครอบครองเสือโคร่ง สัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กรมป่าไม้มอบหมายให้สัตวแพทย์สมชัย วิเศษมงคลชัย เป็นผู้ดูแลเสือของกลางและฝากไว้เลี้ยงไว้ที่วัดนี้ 

ปี 2550

ทางวัดมีเสือในครอบครอง 18 ตัว และเพิ่มมาก 70 ตัวในปี 2553 จนถึง 2558 ทางวัดมีเสือ 147 ตัว จากเดิมที่มีพ่อแม่เสือของกลางเพียง 7 ตัว จำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นเป็น ท่ามกลางการร้องเรียนจากชาวต่างชาติเรื่องการทรมานเสือด้วยการล่ามโซ่ การเลี้ยงดูเสือที่ไม่ดี ตลอดจนความปลอดภัย และยังถูกระบุเป็นแหล่งลักลอบค้าเสือ จนรัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามจากไซเตส

20 ธ.ค.2557

มีการนำคลิปมีเปิดเผยว่ามีรถยนต์ และรถบรรทุกเข้ามาในวัดตอนกลางคืน มุ่งตรงไปที่กรงเสือ หลังจากนั้นมีกลุ่มคนพร้อมด้วยแสงไฟฉายทำอะไรสักอย่าง จนสองชั่วโมงให้หลังรถทั้งสองคันก็ขับจากไป

25 ธ.ค.2557

นายสัตวแพทย์สมชัย นำหลักฐานออกไปพร้อมกับนำหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ และไมโครชิปเสือ 3 ตัว เผยต่อต่อสื่อมวลชนว่ามีการลักลอบนำเสือโคร่งพันธุ์เบงกอล ตัวผู้ชื่อดาวเหนือ อายุ 7 ปี เสือตัวผู้ชื่อฟ้าคราม 3 อายุ 3 ปี และเสือผู้ชื่อแฮบปี้ 2 อายุ 3 ปี ข่าวที่ออกไปสร้างความไม่พอใจให้แก่ หลวงตาจันทร์ และพ.ต.อ.ศุภิฏพงศ์ ภักดิ์จรุง  รวมทั้งคณะกรรมการวัด  

ก.พ.2558

นายสัตวแพทย์สมชัย ลาออกจากงานที่วัด และส่งมอบไมโครชิปที่ได้รับการเอาออกจากเสือ ให้แก่ นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เม.ย.2558

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เข้าตรวจที่วัดเสือ พบว่าเสือ 3 ตัวหายไปอย่างแน่นอน นอกจากนี้พบว่ามีเสืออีก 13 ตัวที่ไม่ได้ฝังไมโครชิพ และยังพบซากเสือในตู้แช่แข็งอีกด้วย

21 ม.ค.2559

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย แปลรายงานของ นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ที่ตีพิมเมื่อวันที่  เรื่อง Exclusive: Tiger Temple Accused of Supplying Black Market ตีแผ่การนำเสือหลักฐานเกี่ยวกับเสือที่ถูกนำเข้าและเคลื่อนย้ายออกจากวัดเสืออย่างผิดกฎหมาย อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2547 โดยนำรายงานมาส่งมอบให้กับทางรัฐบาลไทย และทาง National Geographic เมื่อ ธ.ค.2558 และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นออกสู่สาธารณะเมื่อเดือน ม.ค.2559

ในรายงานมีบันทึกของสัตวแพทย์ ได้ระบุถึง เสือ 4 ตัวที่เลี้ยงอยู่ในวัดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งแท้จริงแล้วถูกจับมาจากธรรมชาติ ในช่วงปี 2542 ถึง 2543 และในปี 2547 เสือเพศเมีย ชื่อ น่านฟ้า ได้นำเข้ามาจากประเทศลาว โดยในสัญญา (พ.ศ.2548) ลงนามโดยเจ้าอาวาส แสดงรายละเอียดการแลกเสือเพศผู้ของทางวัดกับเสือเพศเมียของหน่วยงานที่เพาะเสือเชิงพาณิชย์ในประเทศลาว นอกจากนี้ยังมีเทปบันทึกเสียงซึ่งได้มาจากที่ปรึกษาของวัด ได้บันทึกการสนทนาระหว่างเจ้าอาวาสและนายสมชัยเกี่ยวกับเสือ 3 ตัวที่หายไป 

3 ก.พ.2558

คณะเจ้าหน้าที่นำโดย นายชาติชาย ศรีแผ้ว หัวหน้าสำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 1 ภาคกลาง ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดกาญจนบุรี ที่ มค.78/1558 ลงวันที่ 3 ก.พ.2558 ดำเนินการเข้าจับนกเงือก ออกจากกรงเพื่อขนย้ายไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ของกรมอุทยานฯ

2 เม.ย.2558 

จากนั้นได้เริ่มการปฏิบัติการขนย้ายหมีควายอีก 6 ตัว เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังมากกว่า 500 นาย โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ สามารถวางยาสลบ และขนย้ายหมีขึ้นไปยู่บนรถบรรทุก แต่ไม่สามารถนำออกมาได้ เนื่องจาก หลวงตาจันทร์ ได้ระดมพระลูกวัด รวมทั้งพนักงานของวัดกว่า 100 คน มานั่งขวางประตูทางเข้าออก พร้อมกับนำแผงเหล็กมากั้นเอาไว้

การขัดขวางยืดเยื้อไปจนกระทั่งถึงวันที่ 3 เม.ย.โดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล ขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมอุทยานฯ มากราบนมัสการขอให้หลวงตาจันทร์ เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ขนย้ายหมีออกไป แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ

 

30 พ.ค.- 3 มิ.ย.2559

คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สนธิกำลังทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าปฏิบัติย้ายเสือโคร่งของกลางออกจากวัดไปที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี โดยยังพบซากลูกเสือ 40 ตัว ซากหมีขอ 1 ตัว เขาวัว 1 เขา เขากวางและอวัยวะ สัตว์จำนวนมากอยู่ในห้องเย็น จึงยึดไว้เป็นของกลางพร้อมเข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

วันที่ 2 มิ.ย.2559

ในระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการขนย้ายเสือในช่วงเช้าวันที่ 2 มิ.ย.พบรถกระบะ 1 คัน วิ่งออกมาจากวัดป่าหลวงตาบัว เป็นคนงาน และพระ พบหนังเสือ 2 ผืนใหญ่ ตะกรุดหนังเสือ 1,091 ชิ้น เขี้ยวเสือ 9 เขี้ยว ชิ้นหนังเสือ 33 ชิ้น และเครื่องรางของขลังอีกจำนวนมาก 

14 ธ.ค.2559

นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุหลักฐานตัวอย่างดีเอ็นเอของเสือโคร่งทั้ง 147 ตัว และลูกเสือดองในขวดโหลอีก 40 ตัว ที่ส่งให้พนักงานสอบสวน เข้าใจถึงความชัดเจนของเสือแต่ละตัว ซึ่งเป็นข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ และจะบอกถึงความผิดของเสือที่ครอบครองแต่ละตัว เพราะบางตัวอาจพบแม่พันธุ์ แต่ไม่พบพ่อพันธุ์ หรือบางตัวอาจไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งถ้าพบว่าเสือตัวไหนไม่สามารถหาพ่อและแม่ได้ก็สันนิษฐานได้ว่าเป็นการสวมสิทธิ์เสือ หรือมีความเชื่อมโยงกับขบวนการค้าสัตว์ ทั้งนี้ ลูกเสือในขวดโหลนั้นกว่า 10 ตัวไม่มีที่มาที่ไป

14 ก.ย.2562

ข้อมูลยืนยันว่าเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัวฯ ที่ยึดไว้โดยกรมอุทยาน มีจำนวน 147 ตัวเมื่อช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.2559 ซึ่งถูกแบ่งออกไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 85 ตัว แต่ตายไปแล้ว 54 ตัว ส่วนเสือโคร่งอีก 62 ตัวส่งไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ตายแล้ว 32 ตัว ตายจากโรคหัดสุนัขในเสือ และอาการการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง 

14 ก.ย.2562 

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ยอมรับเสือโคร่งของกลางป่วยตาย 86 ตัว พร้อมประสานทีมสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมตรวจสอบเสือโคร่งที่ตายจากโรคหัดสุนัขในกลุ่มเสือ ชี้หากเสือที่เหลือติดเชื้ออาจต้องพิจารณาทำลายทิ้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กรมอุทยาน” ให้ทีมมหิดลพิสูจน์เสือป่วยตายโรคหัดสุนัข

"เสือโคร่ง" ของกลางป่วยหัดสุนัข-อัมพาตลิ้นกล่องเสียงตาย 86 ตัว

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง