ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ขาดสถานะ "พล.อ.ประยุทธ์"

การเมือง
18 ก.ย. 62
09:40
1,909
Logo Thai PBS
ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ขาดสถานะ "พล.อ.ประยุทธ์"
ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้อง ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นร้องผ่านประธานสภาฯ ขอให้วินิจฉัยสถานะ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ อดีตหัวหน้า คสช.และบัญชีรายชื่อนายกฯขัดกฎหมายหรือไม่

วันนี้ ( 18 ก.ย. 2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยชี้ขาดสถานะ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะอดีตหัวหน้า คสช. 

โดยก่อนการเลือกตั้งทั่ววันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และ กกต.ในฐานะผู้รับรองบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐที่ส่งพลเอกประยุทธ์นั้น ต่างก็ชี้ขาดมาแล้วว่า ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ข้อเคลือบแคลงสงสัยไม่สิ้นสุด และวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะขี้ขาดซึ่งก็ถือเป็นที่สุดแล้ว และผูกพันกับทุกองค์กร

 

ด้วยคำร้องนี้ ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านจำนวน 110 คนเข้าชื่อยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบกับมาตรา 160 (6) ว่าด้วยการเป็นรัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) เรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ในฐานะบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ที่ผู้ร้องให้เหตุผลว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็น หัวหน้า คสช.ในตอนนั้น เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมและนัดวันอ่านคำวินิจฉัยวันนี้เวลา 14 นาฬิกา โดยแจ้งให้คู่กรณีฟังในวันนี้ด้วย ซึ่งแนวทางการวินิจฉัย ตามหลักกฎหมายก็มี 2 แนวทาง แนวทางแรกหากผลวินิจฉัยสรุปว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ นั่นจะทำให้สถานภาพนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์สิ้นสุดลง ต้องพ้นจากตำแหน่งและนำไปสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่

หรือแนวทางที่สอง คือชี้ตรงกับที่ กกต.และผู้ตรวจการแผนดิน ระบุไว้ก่อนหน้านี้ในกระบวนการวินิจฉัยตามกฎหมายของแต่ละองค์กร ว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งจะหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์จะยังคงปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป และคำวินิจฉัยนั้นไม่ว่าจะออกมาในแนวทางใด ก็ถือเป็นที่สุดแล้ว และมีผลผูกพันธ์กับทุกองค์กร

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนมีนาคมปีนี้หรือช่วงก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ ยุติเรื่องที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีเดียวกันโดยอ้างอิงกฎหมายมาตราเดียวกันกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน ว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

 

ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ว่าพล.อ.ประยุทธ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยได้อ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 เกี่ยวกับความหมายของคำว่า"เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี40 ว่าจะต้องมีลักษณะที่ประกอบด้วย

1.การแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฏหมาย 

2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ

3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ

4. มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฏหมาย

 

แต่เมื่อพิจารณาสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช. แล้ว..แม้ว่าจะมีอำนาจดำเนินการหรือปฏิบัติการณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำโดยมีเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนตามกฏหมายแล้ว แต่ว่าตำแหน่งดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯให้เป็น หัวหน้า คสช. ซึ่งไม่ได้เป็นการแต่งตั้งหรือว่าเลือกตั้งตามกฏหมาย ขณะเดียวกันไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐหากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปไตยซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

 

ส่วน กกต. ก็มีคำวินิจฉัยก่อนการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม ซึ่ง กกต.ทั้ง 7 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าการประกาศชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้มีลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ซึ่งในวันนี้เวลา 14:00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกบัลลังก์นั่งอ่านคำวินิจฉัยที่ได้ให้คู่ความมาร่วมรับฟังด้วย โดยมีรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ทีมกฎหมายมาฟังคำวินิจฉัย ขณะที่ตัวแทนผู้ยื่นคำร้องประธานสภาฯมอบหมายทีมกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาร่วมรับฟัง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง