ย้อนรอย “ญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ”

Logo Thai PBS
ย้อนรอย “ญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ”
ย้อนรอยการอภิปรายโดยไม่ลงมติ 40 ปีแรกทั้งหมด 16 ครั้ง เพื่อหารือปัญหาของประชาชนในวงกว้าง ขณะที่ รธน.ปี 21 - 50 ส.ส.ไม่มีสิทธิยื่นอภิปรายโดยไม่ลงมติ ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 60 จะเปิดให้ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติอีกครั้ง

ในอดีตรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับปี 2475 จนถึง พ.ศ.2517 รวม 7 ฉบับ ต่างมีบทบัญญัติ ที่เปิดให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติ ทั้งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้วแต่กรณี

สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติในสภาผู้แทนราษฎรในช่วงระหว่าง 40 ปีแรกนั้น มีทั้งหมด 16 ครั้ง (ข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,2559 อ้างอิง https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2559/hi2559-057.pdf  ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของประชาชนในวงกว้าง เช่น ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ การชุมนุมทางการเมือง ความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ โจรผู้ร้ายชุกชุม นโยบายภาษีอากร นโยบายการรถไฟของแผ่นดิน และการแพร่ระบาดของยาเสพติด เป็นต้น


ขณะที่การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีเพียงครั้งเดียว คือ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2493 คณะรัฐมนตรี (จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ) เสนอญัตติอภิปรายทั่วไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เรื่องนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งทหารไปช่วยสหประชาชาติในสงครามคาบสมุทรเกาหลี ต่อมาไทยประกาศส่งกำลังทหารไปร่วมรบในสงครามองค์การสหประชาชาติในสงครามเกาหลี วันที่ 22 ก.ย.2493

รธน.ปี 21 - 50 ส.ส.ไม่มีสิทธิยื่น


จากรัฐธรรมนูญ 2521 - ถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ให้สิทธิ ส.ส.ยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 จนถึง ฉบับ พ.ศ.2550 (4 ฉบับ) ได้ตัดสิทธิการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่กำหนดให้เป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ของที่ประชุมร่วมกันรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) เท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยังได้ให้อำนาจแก่วุฒิสภาในการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเพราะวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่ง มาจากการเลือกตั้ง (จังหวัดละ 1 คน) แต่ไม่ได้ให้อำนาจการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติแก่สภาผู้แทนราษฎร

ในช่วงตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2556 ได้มีการเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ทั้งสิ้น 9 ครั้ง โดยผู้เสนอญัตติทั้ง 9 ครั้ง มาจากฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น โดยแบ่งเป็นการใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อเปิดอภิปราย 2 ครั้ง และใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ 2550 รวม 7 ครั้ง 

ปี 40 - 56 อภิปรายไม่ลงมติ 9 ครั้ง

 

ครั้งที่ 1

28 สิงหาคม 2540 คณะรัฐมนตรี (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี) ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อฟังความคิดเห็นของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา กรณีวิกฤตเศรษฐกิจ (ต้มยำกุ้ง) หลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในวันที่ 2 ก.ค.2540 ต่อมาพล.อ.ชวลิต ลาออกในวันที่ 8 พ.ย.2540

ครั้งที่ 2

30-31 มีนาคม 2548 คณะรัฐมนตรี (ทักษิณ ชินวัตร) เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ รับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส) และปัญหาความยากจน

ครั้งที่ 3

31 สิงหาคม 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา กรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ยึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล

ครั้งที่ 4

22-24 เมษายน 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ครั้งที่ 5

16-17 กันยายน 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 และพิจารณาแนวทางในการสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง

ครั้งที่ 6

11-12 พฤศจิกายน 2554 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก เรื่องกรณีปัญหาภัยพิบัติอันเนื่องมาจากอุทกภัย ที่ส่งผลกระทบทั่งต่อประชาชนนในวงกว้าง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมบางส่วนต้องหยุดชะงัก

ครั้งที่ 7

15 พฤศจิกายน 2554 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอเปิดอภิปรายทั่วไป กรณี การดําเนินการเพื่อปฏิบัติตามคําสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งการเปิดอภิปรายครั้งนี้คณะรัฐมนตรีขอให้ดำเนินการ “ประชุมลับ”

ครั้งที่ 8

2 ตุลาคม 2555 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา ดําเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ครั้งที่ 9

13-14 พ.ย. 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อรับฟังความเห็นกรณีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทเขาพระวิหาร โดยให้คณะทำงานในคดีปราสาทเขาพระวิหารในศาลโลกได้เข้ารายงาน และวิเคราะห์ผลการตัดสินของศาลโลกต่อรัฐสภา

รธน.60 เปิดให้อภิปรายไม่ลงมติอีกครั้ง

รัฐธรรมนูญ 60 กุญแจเปิดประตูให้ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติอีกครั้ง ในรอบกว่า 40 ปี และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ได้ให้อำนาจในการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยมีลงมติ แก่ทั้งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา และที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยกำหนดไว้ในมาตรา 152 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้

ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน 214 คน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน ร่วมกันเข้าชื่อและใช้ช่องทางนี้เปิดอภิปรายทั่วไปฯ กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการเปิดอภิปราย ครม.ทั้งคณะรวม 36 คน และเป็นการใช้สิทธิยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ครั้งแรกของ ส.ส.ในซีกพรรคฝ่ายค้าน ในรอบกว่า 40 ปีที่ผ่านมา


โดย ส.ส.ฝ่ายค้านที่เคยยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ 16 กรกฏาคม 2519 คือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีต ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรคกิจสังคม ในยุครัฐบาลเสียงข้างน้อย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (พรรคประชาธิปัตย์)
ซึ่งภายหลังรัฐบาลแพ้การลงมติในการแถลงนโยบาย พรรคกิจสังคม ซึ่งมีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนายบุญเท่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ได้รับตำแหน่งกระทรวงมหาดไทย ก่อนจะปรับตำแหน่งเป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก่อนยุบสภา และเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

สุภาวดี อินทะวงษ์

อ้างอิง


https://library2.parliament.go.th/giventake/debate2.html

https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2559/hi2559-057.pdf

https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2558/hi2558-105.pdf

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง