พบฟอสซิล "ไฮยีนาลายจุด" ยุคน้ำแข็งถ้ำยายรวก จ.กระบี่

สิ่งแวดล้อม
19 ก.ย. 62
13:03
1,624
Logo Thai PBS
พบฟอสซิล "ไฮยีนาลายจุด" ยุคน้ำแข็งถ้ำยายรวก จ.กระบี่
กรมทรัพยากรธรณี ค้นพบซากฟอสซิล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม "ไฮยีนาลายจุด-แรดชวา-กวางป่า-เม่นใหญ่แผงคอยาว" ในถ้ำยายรวก จ.กระบี่ เทียบเท่ายุคน้ำแข็งอายุราว 200,000-80,000 ปี นักธรณีวิทยา ชี้ อดีตไทยเคยมีภูมิประเทศเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา แต่ถูกตัดขาดจากป่าฝน

วันนี้ (19 ก.ย.2562) นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งการค้นพบโครงกระดูกในตะกอนดินโบราณ จากองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวลึกเหนือ จ.กระบี่ จึงเข้าดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามี ความเป็นไปได้ว่าจะเป็น ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จึงได้เชิญ ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ไฮยีนาลายจุด แรดชวา กวางป่า และเม่นใหญ่แผงคอยาว จากการ คาดคะเนอายุเบื้องต้น น่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีนตอนล่างไปจนถึงช่วงต้นของสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (Middle to Late Pleistocene) หรือประมาณ 200,000-80,000 ปี ที่ผ่านมา

นายสมหมาย กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์เพื่อขอความเห็นชอบให้ ประกาศแหล่งถ้ำยายรวกเป็น เขตสำรวจศึกษาวิจัย ตามนัยแห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 รวมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

ซากฟอสซิล ไขอดีต

ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมศึกษาวิจัย กล่าวว่า นับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ เนื่องจากเป็นหลักฐานสำคัญ ของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุด ในทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 

ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาไอโซโทปเสถียร (Isotope) ของธาตุคาร์บอนและศึกษาไอโซโทปของออกซิเจนจากเคลือบฟันของซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำยายรวก ผลการวิเคราะห์ "ไอโซโทป" ยืนยันว่า พื้นที่กระบี่ในสมัยไพลสโตซีนหรือเมื่อประมาณ 200,000 ปี ก่อนนั้น มีสภาพแวดล้อมเป็น "ทุ่งหญ้าสะวันนา" สลับป่าทึบเป็นหย่อมๆ เป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการย้ายถิ่น หรือ อพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไปยังหมู่เกาะต่างๆ

นอกจากนั้น ยังมีข้อสันนิษฐานว่าการกระจายตัวของไฮยีนาลงมาใต้สุดที่กระบี่นี้เป็นผลมาจากความ ไม่ต่อเนื่องของเส้นทางสะวันนา ที่ถูกคั่นด้วยป่าฝนในบริเวณซุนดาแลน ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นอยู่ทั่วไประหว่างคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย ในช่วงยุคน้ำแข็งในสมัยไพลสโตซีน

ยุคที่ไฮยีนาปรากฏใน จ.กระบี่ สมัยไพลโตซีนตอนปลายนั้น เป็นยุคที่เรียกว่า "ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย" การเกิดพืดน้ำแข็งเป็นบริเวณกว้าง ทำให้นักวิชาการตั้งสมมุติฐานการลดลงของน้ำทะเล 2 สมมุติฐาน คือ 1. นำทะเลลดลง 40-50 เมตร และ 2. น้ำทะเลลดลง 100-120 เมตร จากปัจจุบัน ทั้ง 2 สมมุติฐานนี้ต่างทำให้เกิดแผ่นดินซุนดาหรือไหล่ทวีปซุนดา ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่บริเวณอ่าวไทยไปจนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซีย สะพานแผ่นดินนี้เองที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน

การสำรวจซากดึกดำบรรพ์ ภายในถ้ำยายรวก พบชิ้นส่วนของ ขากรรไกรล่างด้านซ้าย และฟันกรามน้อยบน ของฮายีนาลายจุด ขากรรไกรล่างด้านขวา ฟันน้ำนมบน ของแรดชวา, ฟันกรามล่าง ของกวางป่า และ ฟัน ของเม่นใหญ่แผงคอยาว

 

ถิ่นฐานของไฮยีนาอาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าสะวันนา ปัจจุบันจึงพบไฮยีนาแค่ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น ซากดึกดำบรรพ์ไฮยีนาลายจุดที่เก่าแก่ที่สุด อายุราว 400,000 ปี ถูกพบที่สาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับประเทศไทย พบไฮยีนาลายจุดกระจายตัวอยู่ 6 พื้นที่ ประกอบด้วย

 

  • ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน อายุ 200,000-160,000 ปี
  •  บ่อทรายบ้านโคกสูง จ.นครราชสีมา  อายุ 200,000-160,000 ปี
  •  ถ้ำวิมานคินทร์ จ.ชัยภูมิ อายุ 200,000-160,000 ปี
  • ถ้ำเพดาน จ.นครศรีธรรมราช อายุ 200,000-160,000 ปี
  • ถ้ำประกายเพชร จ.ชัยภูมิ 
  • ถ้ำยายรวก จ.กระบี่ คาดว่ามีอายุ อายุ 200,000-80,000 ปี

นายกันตภณ กล่าวว่า การศึกษาสภาพแวดล้อมในอดีตจะช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต เรียนรู้ข้อจำกัดของธรรมชาติซึ่งจะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้าใจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง