ไม่ลงมติได้อะไร?

การเมือง
20 ก.ย. 62
16:42
351
Logo Thai PBS
ไม่ลงมติได้อะไร?
การอภิปรายปมถวายสัตย์ปฏิญาณ และกรณีไม่ชี้แจงที่มารายได้ของนโยบาย อาจจบลงพร้อมคำถามว่าหากไม่ลงมติ แล้วจะมีประโยชน์อะไร คงต้องกลับไปดูเจตนารมณ์ของมาตรานี้อีกครั้ง

 

เป็นเรื่องระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ และ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กระบี่มือ 1 ด้านกฎหมายของรัฐบาล สร้างประวัติศาตร์การเมืองไทยอีกครั้ง บนเวทีชี้แจงปมถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

 

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่ 20 กว่านาที กับกรณีไม่ชี้แจงงบประมาณในการแถลงนโยบายเท่านั้น

กว่า 8 ชั่วโมงกับญัตติอภิปรายแบบไม่มีการลงมติ ที่ฝ่ายค้านเข้าชื่อเพื่อซักถามและให้ข้อเสนอแนะเทียบเคียงเปรียบเปรยพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี และครม.ทั้ง “โรคไม่แยแส”  “โรคไม่รับผิดชอบ” รวมถึงการ “บวชพระ”

 

ถ้าพูดต่างจากที่กำหนดย่อมขัดต่อหลักการ บทบัญญัติพร้อมเสียงเรียกร้องความรับผิดชอบทางการเมือง อย่างขอถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ และลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรักษาเกียรติของสภาฯ และยกยอพระเกียรติยศฯ

แต่การชี้แจงของนายวิษณุ ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ จะนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งใดไม่ได้เลย 

Process โอเค Content ไม่ต้อง

จึงกลายเป็นบทสรุปจากนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน “และไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ก็ได้”

แม้นักวิชาการในรายการตอบโจทย์ ThaiPBS เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2562 ยังแสดงออกถึงความคลางแคลงใจ

ท่านทำเพราะท่านต้องมีเหตุผล จะพูดอีกสักนิดได้มั้ย ว่าเป็นเหตุผลที่บอกไม่ได้ มันจบแบบรัฐบาลไม่อธิบาย

ความเห็นของ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เช่นเดียวกับ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม NIDA ระบุว่า

มันจะกระทบต่อระบบนิติรัฐ สังคม องค์กรต่างๆ ก็ไม่กล้าวินิจฉัยถกเถียง ถ้ามาตรานี้ไม่ปฏิบัติ มาตราอื่นก็อาจจะไม่ปฏิบัติด้วยได้หรือไม่

หากหวังผลตามญัตติ ย่อมผิดหวังเพราะไร้คำตอบถึงข้อความที่ขาดหายและเพิ่มเติม และหากหวังผลแพ้ชนะ ใครจะคิดล้มรัฐบาล ด้วยมาตราอย่าง 161 รวมถึง 152 และ 153 เพราะเมื่ออภิปรายแล้วไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ 

 

แต่เพราะผู้เข้าชื่อยื่นคำร้องเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ และต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง แต่เพราะการชี้แจงในสภาฯ คือการชี้แจงต่อผู้แทนประชาชน

แต่เพราะการชี้แจงต่อผู้แทนประชาชน เป็นกลไกของประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา แต่เพราะระบบรัฐสภา จะลดโอกาสที่ประชาชนจะเผชิญหน้า ลดความเสี่ยงขยายความขัดแย้งเห็นต่างสู่ความรุนแรงบนท้องถนน

แม้ช่วงเปิดประชุม ส.ส.บางส่วน เสนอให้ยกเลิกญัตตินี้ เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมาแล้ว แต่ประธานสภาก็ยืนยันเดินหน้าต่อ ทั้งหมดสะท้อนว่าการต่อสู้ในสภาแม้จะรุนแรง ก็ย่อมดีกว่าดึงลากประชาชนมาเผชิญหน้ากัน

และ 8 ชั่วโมงนี้ไม่สูญเปล่า หากทั้งสองฝ่ายในสภา ประชาชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญใด หรือ “องค์กรที่ไม่อยู่ตามรัฐธรรมนูญใด” นำทั้งหมดมาทบทวน ผนวกกับเรื่องราวที่ผ่านมา และที่จะเกิดขึ้นอีกนับจากนี้ ก่อนจะ “ไปเจอกันวันเลือกตั้ง” อย่างที่ประธานวิปฝ่ายค้านทิ้งท้าย

จตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง