มองมุมต่างกรณี "ลัลลาเบล"

สังคม
24 ก.ย. 62
10:14
3,357
Logo Thai PBS
มองมุมต่างกรณี "ลัลลาเบล"
คดีลัลลาเบล ไม่ใช่แค่คดีที่ต้องการไขปริศนา-หาคนผิด แต่ยังทิ้งเงื่อนปมความคิดของคนในสังคมที่มีต่อเรื่องเพศและ "ผู้หญิง"

เธอ เขา เรา ฉัน สรรพนามใช้เรียกแทนคน-กลุ่มคน ที่มีเส้นกั้นระหว่างความเป็นคนนอก-คนใน

กรณีลัลลาเบล แน่นอนว่าสะเทือนใจผู้คนที่พบเห็นข่าวนี้ ไม่ว่าคนนอก-คนใน แต่ "แว่นตา" ที่เป็นเหมือนกรอบคิดต่อเรื่องๆ นี้ย่อมต่างกัน

ไม่แปลกถ้าคุณจะรู้สึกสงสารคนๆ หนึ่งที่ตกเป็น "เหยื่อ" ของความรุนแรง คุณเลือกได้ที่จะ สงสาร-ผู้สูญเสีย และ สาปแช่งกล่าวโทษ –ผู้กระทำ

แต่ก็อีกนั่นแหละ... มีไม่น้อยที่เห็นว่าเป็นเพราะ "ผู้หญิง" เลือกที่จะตกอยู่ใน "ความเสี่ยง" เลือกเป็น "พริตตี้" เลือกเป็น "เด็ก N" ก็ต้องรับผลที่ตามมา เพราะคุณเป็นคนเลือกเอง

ต่อเรื่องนี้ ผู้เขียน-ผู้สัมภาษณ์ จึงรู้สึกอวลๆ อยู่กับความคิดและสับสนกับจุดยืนต่อเหตุการณ์ เพราะมีทั้งเห็นด้วย-เห็นต่าง และมีมิติของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ยังเชื่อว่าคำถามนี้ไม่ยากเกินหาคำตอบ

เราจึงเลือกคุยกับ รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้โชกโชนและเชี่ยวชาญในเรื่องอำนาจและความสัมพันธ์ โดยเฉพาะเรื่อง "เพศ"

 

Q : ปฏิกิริยาจากสังคมต่อกรณีลัลลาเบลสะท้อนอะไร

A : พูดอย่างยุติธรรมต่อข่าวนี้ เรายังไม่รู้อะไรชัดเจน แต่ดูจากข้อมูลแล้วสรุปกันเอา แต่เรื่องนี้สะท้อน 2 ส่วนด้วยกันค่ะ เรื่องแรก ฝั่งผู้ถูกกระทำ (ผู้เสียชีวิต) เมื่อกรณีแบบนื้มักเกิดคำถามในสังคมไทยต่อผู้หญิงที่ประกอบอาชีพชุดหนึ่ง เช่น สมมติว่าผู้หญิงทำงานกลางคืน หรืองานที่ชาวบ้านคิดว่าสุ่มเสี่ยง จึงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศ

คนจะตั้งคำถามกับผู้หญิงว่า คุณประกอบอาชีพนี้ทำไม คือมันไม่น่าถามแบบนนั้น วิธีการเลือกอาชีพอาจจะเป็นการเลือกเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ หรือเขาเลือกอาชีพนี้เพราะคิดว่าสร้างรายได้ เรื่องนี้เป็นมุมมองของใครของมัน

ดิฉันว่าเราควรจะตั้งคำถามว่า ทำไมสถานการณ์เป็นเช่นนั้น มากกว่าจะถามว่าทำไมผู้หญิงไปอยู่ในจุดเสี่ยงหรืออยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น แล้วบอกว่าผู้หญิงต้องไม่ทำอาชีพต่อไปนี้ ซึ่งจริงๆ ถ้าดูข้อมูลความรุนแรงทางเพศ แม้แต่ "คนบวชชี" ยังถูกกระทำรุนแรงทางเพศ หรือมีคนถูกกระทำในบ้านตนเองด้วยซ้ำ

เรื่องที่ 2 ทำไมจึงรู้สึกว่า การประกอบอาชีพหรือกิจกรรมบางประเภท เมื่อถูกบังคับร่วมเพศ มันคือส่วนหนึ่งของอาชีพ ยกตัวอย่างให้สุดๆ เลยนะ พนักงานบริการทางเพศ ที่เขาทำเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ซึ่งจริงๆ แล้วการขายบริการทางเพศ คือการที่เขา "ขายบริการทางเพศ" แต่เขาไม่ได้ "ขายตัว"

ไม่ได้แปลว่าใครจะทำอะไรกับเขา หรือทำอะไรกับร่างกาย เขายังไงก็ได้ เขามีสิทธิที่จะบอกว่าลูกค้าบางคนฉันไม่ขาย รูปแบบนี้ฉันไม่ทำ

วิธีที่สังคมไทยมองเรื่องแบบนี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ คุณจะรู้สึกว่าขายบริการทางเพศแล้วทำอะไรก็ได้ ดังนั้นย้ำอีกครั้งว่า เขา "ขายบริการทางเพศ" แต่เขาไม่ได้ "ขายตัว" เขาไม่ได้เปิดเต็มที่ให้คุณทำอะไรก็ได้ เขายังมีสิทธิเลือกตลอดเวลา

หรือแม้กระทั่งกรณีที่คุณเห็นว่าเขาพูดคุยเหมือนชอบพอกัน คนที่ชอบพอกับคุณไปเดทกัน ไม่ได้แปลว่าเจะยอมให้คุณเอา เพราะทุกอย่างมีขั้นตอน แต่เหมือนคนในสังคมนำมาจับเหมาะรวมกัน ถือเป็นเรื่องปะหลาดในสังคมไทย ดังนั้นเรื่องนี้มีอะไรหลายอย่าง แต่รอว่าจะถูกพูดถึงเมื่อไหร่

Q : บางคนมองว่าเพราะผู้หญิงพาตัวเองไปเสี่ยงต้องยอมรับผล แต่บางคนมองว่าเป็นอาชีพสุจริตและสร้างโอกาส

A : เขาจะทำอะไร-ไม่ได้เกี่ยวกับคุณ คุณไม่มีมีสิทธิบอกว่าเขาควรเป็นอย่างไร เวลาคนเลือกทำอาชีพไหน เขาจะทำอะไรกับร่างกายก็ได้ เช่น หากเขาเห็นว่าร่างกายสามารถนำเสนอหรือเอาไปใช้ประกอบอาชีพ-มันเป็นเรื่องของเขา แต่สุดท้ายขอย้ำว่า ไม่ได้แปลว่าใครจะทำอะไรกับเขาก็ได้

น้องๆ พริตตี้ เขาจะทำอะไรแค่ไหน-มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณ เพียงแต่ว่าคนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นคนจ้างหรือคนทั่วไปที่เห็นพริตตี้ ต้องตระหนักเช่นเดียวกันว่า "พริตตี้" เขาเลือกได้ทุกสถานการณ์ว่าเขาจะยอมบริการให้คุณขนาดไหน แต่คุณจะไปเหมารวมได้อย่างไรว่าคุณทำอะไรก็ได้

เขาทำงานบริการ ซึ่งบริการที่ว่านี้มีขอบเขตที่เข้าใจกันอยู่ไม่ใช่หรือ ว่าทำอะไรได้แค่ไหน ถ้าสังคมไทยคิดต่อไปได้อีกนิด ความรุนแรงทางเพศหลายเรื่องจะลดลง

Q : เท่าที่ฟังปัญหาไม่ได้อยู่ที่การกระทำ แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน

A : สังคมไทยโดยเฉพาะ "เพศสภาพชาย" เห็นว่าการได้ร่วมเพศเป็น "การพิชิต" เป็นวิธีคิดภายใต้กรอบ "รักต่างเพศ" เช่น ฝ่ายหญิงตั้งรับ ผู้ชายคือฝั่งรุก เมื่อผู้หญิงตอบสนองทางบวก แปลว่าผู้ชายคนนั้นได้พิชิตผู้หญิง วิธีคิดนี้นำไปสู่การคิดเรื่องเพศอีกหลายแง่มุม

ทั้งที่จริงดิฉันว่า เพศสภาพชายทั้งหลายต้องยอมรับความจริงนะคะ ว่าคุณพิชิตเขาไม่ได้หรอกค่ะ มีโอกาสแห้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ชายแล้วคุณจะพิชิตใครก็ได้ แล้วคุณก็เลือกใช้วิธีต่างๆ นาๆ เช่น การใช้กำลังบังคับ หรือการใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิดเพื่อมอมเขา

ประเด็นคือคุณใช้สารให้คนหมดสติ แล้วคุณร่วมเพศกับเขา คุณพิชิตเขาตรงไหนคะ คือเขาไม่มีสติตอบสนอง ในสภาพเช่นนั้น คนที่ร่วมเพศด้วยไม่ต่างจากตุ๊กตายาง

ดิฉันพยายามจะสื่อว่าถ้าคุณทำเช่นนั้น คุณไม่ได้พิชิตเขา คุณไปร่วมเพศกับตุ๊กตายางเสียดีว่าไหม จะได้ไม่เสี่ยงกับคนอื่น

วิธีสังคมไทยแม้จะพยายามพูดกันแบบนี้ แต่ก็ทำตามแบบเดิม อย่างที่เห็นในวิธีคิดแบบล่าแต้ม ถ้าอีกฝ่ายหมดสติอยู่ไม่สามารถตอบสนองเยี่ยงมนุษย์ แล้วคุณจะได้แต้มตรงไหน มีมุมชวนคิดอีกเยอะมาก แต่ทำอย่างไรที่คนจะคิดถึงตรงนั้น

 

Q : การพิชิตคือวิธีคิดแบบเดิมที่เชื่อว่าผู้หญิงเป็นวัตถุหรือมองคนไม่เท่ากันหรือเปล่า

A : ถ้าคุณมองเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุ แค่มองว่าคุณจะกระทำกับเขา แปลว่าจะทำอะไรก็ได้โดยวัตถุไม่ตอบสนองหรือไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่ในหลายกรณีมันไม่ใช่แค่การมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศเสียทีเดียว แต่เป็นการ "ทำให้" เป็นวัตถุทางเพศ ซึ่งมีความหมายต่างกัน

การทำให้คนอื่นกลายเป็นวัตถุทางเพศมีวิธีการต่างๆนาๆ เช่น รุมโทรม หรือ ใช้แรงคนจำนวนมากบีบบังคับ ทำให้เขากลายเป็นวัตถุที่ไม่สามารถต่อสู้คุณได้ หรือการใช้ยาใช้สารเสพติด คุณทำให้คนกลายเป็นวัตถุ

Q : อธิบายเพิ่มเรื่องการมองคนเป็นวัตถุและการทำให้กลายเป็นวัตถุต่างกันอย่างไร

A : กรณีคนเห็นคนอื่นเป็นวัตถุ เช่น คุณอ่านข่าวในทีวี คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคนทางบ้านมองเห็นคุณเป็นอะไร เขา "เสพ" คุณอย่างไรก็ได้ ซึ่งมันเป็นการเสพถูกไหม และเป็นปกติที่มีคนชอบดูผู้หญิง-ผู้ชาย แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น ทีนี้การเสพที่ว่าไม่ได้ทำอะไรไป เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เป็นจินตนาการ เราไม่เห็นว่าเป็นความรุนแรงเพราะเป็นความคิด

แต่เราจะเห็นต่อเมื่อคนๆนั้นแสดงออก แน่นอนว่ามนุษย์ไม่ใช่วัตถุและมนุษย์สนองคุณได้ ดังนั้นเมื่อคุณลงมือทำให้เขาไม่สามารถตอบสนองอย่างเป็นมนุษย์ เขากลายเป็นวัตถุด้วยความรุนแรง

สังคมไทยไม่พูดกันเรื่องนี้และเมื่อถูกเรื่องนี้ก็ต้องเลยไปถึง "ความสมยอมหรือยินยอมพร้อมใจ" ซึ่งมีแง่มุมอีกมาก เช่น การเห็นคนอื่นเป็นวัตถุ แต่เรามักจะพูดเฉพาะเมื่อเกิดเหตุเศร้า

Q : การสมยอมในจุดที่ควรจะพูดถึงคืออะไร

A : เรื่องเพศมีกติกาของหญิง-ชายไม่เหมือนกัน ปกติคุณไม่กล้าพูดตรงๆ เวลาพาผู้หญิงไปเดท ว่าอยากร่วมเพศ-ไม่กล้าบอก ผู้หญิงก็เหมือนกันไม่กล้าพูดตรงๆ สมมุติผู้หญิงรู้สึกไม่อยากมีเพศสัมพันธ์แล้วพูดก่อน คุณก็จะมองเขาเสียหายได้ ดังนั้นเรื่องเพศจึงอยู่บนพื้นที่สีเทาขนาดใหญ่

คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสื่อสารกันและคาดหมายกันเอง เช่น เดทกับเรา-ชงเหล้าให้เรา ต้องร่วมเพศสิ ซึ่งมันไม่ใช่ คุณอาจคิดผิดก็ได้ แต่มันเพราะไม่ได้สื่อสารกัน ดังนั้นการแสดงความยินยอมพร้อมใจ บางครั้งมันต้องพูดออกมาหรือแสดงออกให้ชัดเจน เราไม่ค่อยลงไปในเรื่องนี้เท่าไหร่ เราต้องฝึกวิธีคิดแต่เราเลือกที่จะมโนเสียเยอะ

Q : ความคิดที่เห็นว่าผู้หญิงเสี่ยงเองต้องยอมรับ เป็นวิธีคิดที่อันตรายไหม

A : ดิฉันทำงานกับพนักงานบริการทางเพศ หรือคนที่ขายบริการทางเพศ เขาขายบริการไม่ได้แปลว่า ขายใครก็ได้-ทำอย่างไรก็ได้ ถ้ายังคุณพูดแบบนี้กับคนที่ทำกิจกรรมแบบนี้ ก็จะเกิดกรณีอย่างที่เห็น

Q : อาจารย์จะบอว่าทุกอาชีพ-สถานะ มีสิทธิเลือกและมีสิทธิในเนื้อตัว

A : เขายังเป็นคนและมีมนุษย์เหมือนคุณ คุณเองยังไม่ยอมที่จะให้ใครมาทำอะไรก็ได้กับคุณ

Q : กรณีนี้ความล้มเหลวอยู่ที่ใคร หรืออยู่วิธีคิดแบบไหน

A : เวลาพูดว่าผู้หญิงพาตัวเองไปในสถานการณ์เสี่ยง คุณพูดแบบนี้คือคุณโทษคนๆ หนึ่ง คุณไม่ได้ตั้งคำถามกับปัจจัยหรือมองโลกแบบยึดค่านิยมและตีความแบบโมเมมาก คุณโทษลงไปที่คนและก็เลือกแก้ปัญหาแบบง่ายๆเลย คนนี้ผิดควรลงโทษ ส่วนคนนี้ไม่น่าเอาตัวเองไปในที่เสี่ยง เท่านี้จบง่ายๆ

เรายอมทำอะไรง่ายๆ และเราไม่ยอมทำอะไรยากๆ กลายเป็นเรื่องหาคนผิด 2 คนหรือมากกว่านั้นมาลงโทษ คือมองคนที่เป็นเหยื่อถูกกระทำ และหาคนกระทำผิด โทษที่ตัวคนหมดและไม่คิดใคร่ครวญอย่างเป็นระบบ

Q : มีข้อเสนอไหม มีอะไรที่จะปรับวิธีคิดคนได้

A : ฉันเชื่อว่ามี 2 ส่วนที่ทำได้ทันที ส่วนแรก คือคนที่โตๆ กันแล้วน่าจะคิดถกเถียงเรื่องแบบนี้ เราไม่ค่อยคิดกันเท่าไหร่ เราใช้วิธีที่ง่ายคือ โทษคน ให้มันจบๆ ไป เราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเอง

อีกเรื่องคือการศึกษา เมื่อไหร่จะยอมให้มีการพูดเรื่องเพศในโรงเรียน เพื่อให้ตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็น Sexual Being หรือเป็นมนุษย์ที่มีแง่มุมทางเพศ คุณเห็นตนเองและคนอื่นเป็นอย่างไร และ "ความยินยอมพร้อมใจ" คือะไร ถ้าเริ่มมีการพูดคุยและเข้าใจทักษะการจัดการตัวเอง เรื่องจะเบาลงไปเยอะ แต่ที่พูดมาทั้งหมดเราไม่ได้ทำอะไรเลย (หัวเราะ)

เมื่อตัวคุณมองที่ตัวคน แก้เรื่องตัวคนจบ เช่น คนนี้เสียชีวิต-คุณลงโทษผู้กระทำผิดจบ เราเป็นแบบนี้มาตลอด

สุดท้ายประเด็น ที่ดิฉันพยายามจะสื่อสาร คือ พวกเราแม้ไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่เป็นคนที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้า ควรมีส่วนช่วยหรือไม่ หลายครั้งคนไทย-สังคมไทย ไม่ตั้งคำถามกับตัวเอง

เราชอบยุ่งเรื่องเขา-เรื่องดารา คุณเข้าไปแกะแคะตาม แต่ความรุนแรงซึ่งหน้าคุณไม่มองเลย เช่น คนทำร้ายตบตีกัน พอเขาบอกว่าเป็นเรื่องของผัวเมียคุณก็ไม่ยุ่งแล้ว แต่ถ้าความอยากรู้ อยากเห็น อยากสอดแทรก จะป้องกันความรุนแรง ดังนั้นเราอย่าแค่เข้าไปแทรกเพื่อสนองความอยากรู้อย่างเดียว

Q : อาจารย์จะบอกว่าความสอดรู้สอดเห็นอาจจะช่วยลดความรุนแรง

A : ความสอดรู้สอดเห็นของเรา ควรจะขยายไปถึงการกระทำที่มีความรุนแรงโดยเฉพาะที่เห็นซึ่งหน้า เช่น ผู้ชายบอกเป็นเรื่องผัวเมีย แต่เขาตบตีเมีย เป็นความรุนแรงนะ แบบนี้คุณควรเข้าไปไหม คุณดูเรื่องดารา-คุณท่องโลกโซเชียล 8 ชม.ได้ ดังนั้นในเรื่องความรุนแรงซึ่งหน้าคุณอย่าวางเฉยได้ไหม

ถ้าคุณอยากรู้อยากเห็นเมื่อเห็นความรุนแรงเหมือนกับเรื่องดารา หลายความรุนแรงป้องกันได้ค่ะ

ไม่ว่า เธอ เขา เรา ฉัน จะตั้งอยู่ ณ สถานะใดของสังคม 1 ชีวิตนั้น คือ 1 ชีวิตที่เท่ากัน ต่อเมื่อยังหายใจ-เมื่อนั้นยังมีสิทธิเลือก

นั่นเป็นข้อสรุปส่วนหนึ่ง ที่คิดได้จากคำสัมภาษณ์ข้างต้น

และอีกหนึ่ง Key Massage ที่ถูกกระตุกหัวใจและความคิด นั่นคือไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด จะเป็น พริตตี้ เด็กN ผู้ขายบริการ หรืออาชีพอะไรก็แล้วที่คุณทำอยู่ คุณยังมีสิทธิเลือก-มีสิทธิในเนื้อตัวคุณเสมอ ต่อให้ "คุณขายบริการ" แต่ไม่ได้แปลว่า "คุณขายเนื้อตัว" ให้ใครทำอะไรกับคุณก็ได้

เมื่อหลักคิด-คิดได้ที่จุดนี้ คุณก็จะรู้ว่า 1 คน ไม่ว่าชีวิตคุณหรือชีวิตใคร ไม่ว่า ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ หรือผู้ขายบริการ ล้วนเป็น 1 ชีวิตไม่ต่างกัน

คุณย่อมมีสิทธิที่จะกุมชีวิต มีสิทธิในเนื้อตัว และก็ควรจะมี "สวัสดิภาพ" ในชีวิตเท่าๆ กัน

 

ดูคลิปสัมภาษณ์พิเศษฉบับเต็ม

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง