ความตายของ “ลัลลาเบล” อาจไม่ใช่แค่เหล้า!

Logo Thai PBS
ความตายของ “ลัลลาเบล” อาจไม่ใช่แค่เหล้า!
คดีการเสียชีวิตของพริตตี้หญิงยังรอผลตรวจที่ชัดเจน เพื่อหาคำตอบว่ามีใครทำให้ตายหรือไม่ แต่หากมองย้อนไป อะไรทำให้หญิงสาวแรกรุ่นจำนวนไม่น้อย เลือกเดินเส้นทางอาชีพที่มีเฉดสีกว้างสุดขั้ว จากสีขาวปานสรวงสวรรค์ จนถึงความมืดมนดั่งนรก

แอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถึงระดับที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ไม่พบสารเสพติด ร่องรอยการต่อสู้ รวมถึงสารคัดหลั่งของบุคคลอื่น

นี่คือผลการชันสูตรศพพริตตี้สาว “ลัลลาเบล” น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ ที่ไม่ทันได้ฉลองวันเกิดครบ 26 ปี เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา การเป่าเค้กถูกจัดภายในศาลาสวดพระอภิธรรมศพ หลังจากเธอเสียชีวิตปริศนา เมื่อช่วงเช้ามืด 2 วันก่อนหน้า

คลิปภาพ บทสนทนามากมาย ถูกส่งต่อและวิเคราะห์แพร่หลายในโลกออนไลน์ และในรายการข่าวโทรทัศน์ หลายคนพยายามหาคำตอบ และพุ่งเป้าไปยังชายหนุ่มที่อยู่กับผู้เสียชีวิตเป็นคนสุดท้าย รวมถึงกลุ่มคนในงานเลี้ยงที่จ้างเธอไป “เอ็นเตอร์เทน”

“เอ็นเตอร์เทน” หรือการสร้างความสุขให้ลูกค้า ตีความได้ทั้งการแสดง เล่มเกม เล่นมุกตลกขำขัน สัมผัสพูดคุย หรือเกินเลยไปกว่านั้น

ขอบข่ายงานที่ถูกเรียกว่า “พริตตี้” ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามนิยามของคนประกอบอาชีพนี้
งานสายขาว ขายของแนะนำสินค้า / พิธีกรภาคสนาม
งานสายเทา ทำงานเหมือนสายขาว แต่เพิ่มงานเอ็นเตอร์เทนที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแฝงขายบริการทางเพศ
งานสายดำ เน้นงานเอ็นเตอร์เทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือขายบริการทางเพศอย่างชัดเจน

สามสายยังแบ่งเป็นเฉดสีได้มากมาย อย่างสายขาว พริตตี้แนะนำสินค้าทั่วไป แต่แต่งชุดเน้นแสดงรูปร่าง หรือสายเทาที่รับเฉพาะงานแนะนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพบได้ในสถานที่เปิด อย่างศูนย์การค้าและลานกิจกรรมบันเทิง และคงมีเพียงเฉดเทาเข้มหรือสายดำที่กระทำกันในพื้นที่ส่วนตัว

อะไรทำให้พวกเธอเข้าสู่วงการนี้

แรกเริ่มจากหวังรายได้เสริมระหว่างเรียนหนังสือ หรือทำงานประจำ หรือเพราะว่างงาน รายได้ที่ได้มาถูกใช้จ่ายไปเพื่อความจำเป็นในชีวิต ทั้งเลี้ยงครอบครัว เรียนหนังสือ จัดหาความจำเป็นพื้นฐานจำพวกบ้าน รถ ฯลฯ

ส่วนที่เกินเลยไปกว่านั้น ยังใช้ตอบสนองความต้องการส่วนตัว ทั้งเที่ยวเตร่ ซื้อข้าวของสนองความสุข รวมไปถึงทำศัลยกรรมความงาม และหาความสุขชดเชยแรงกายแรงใจที่เสียไป

รายได้ที่เข้ามายังตอบโจทย์ชดเชยให้กับปัญหาชีวิต ทั้งหนี้สิน ครอบครัว คนรัก รวมถึงบทบาท “แม่เลี้ยงเดี่ยว” หากชีวิตผิดพลาดเกิดขึ้น

เมื่อรายได้ตอบสนองได้มากมายขนาดนี้ ผู้คนจึงไม่จำกัดเฉพาะผู้หญิง แต่มีชายและกลุ่ม LGBTQ รวมอยู่ด้วย ด้วยหลักพื้นฐาน “ถ้ามีคนซื้อ ก็มีคนขาย”

สังคมไทยอาจมองอาชีพนี้ไม่สวยงาม เป็นชีวิตในมุมมืด กับค่านิยมดั้งเดิม ที่ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว แต่งก่อนอยู่ เป็นแม่บ้านแม่เรือน ไม่เสพไม่ดื่มไม่สูบ แถมกฎหมายกำหนดว่า หากนอกใจ คือ “คบชู้” แตกต่างจากชายที่ “มีหญิงอื่น” ส่วนการทำงานก็จำกัดด้วยโอกาส ทั้งจากผู้จ้างและงานบางประเภท

หลายคนเลือกเดินบนถนนสายนี้ ด้วยความหวังในมุมสว่าง หวังสมใจทั้งรายได้และชื่อเสียง มีผู้คนติดตาม ได้ร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ถ่ายแบบแฟชั่น บางคนไปไกลถึงขั้นเข้าวงการบันเทิง แสดงละคร ซิทคอม ภาพยนตร์ รวมถึงศิลปินไอดอล

แต่ความสำเร็จสมหวังบนถนนสายนี้ไม่ได้มีกับทุกคน หากใครคิดว่านี่คืองานง่าย รายได้ดี

การพบเจอผู้คนมากมายที่เดินมาเข้ามาใช้บริการบนเส้นทางสายนี้ ย่อมหมายถึงความต้องการหลากหลายเช่นกัน บ้างต้องการทราบข้อมูลสินค้า บ้างหวังทำความรู้จัก บ้างคิดไกลไปถึงกรณีเพศสัมพันธ์

และก็ไม่แตกต่างจากอาชีพอื่น เมื่อยอดภูเขาแห่งความสำเร็จมีพื้นที่สำหรับคนไม่มาก ส่วนที่เหลือต้องลุยฝ่าขวากหนามต่อไป หลายคนพ่ายแพ้ แต่ยังหวังเช่นเดิมคือรายได้งดงาม การเลือกทางสีขาวอาจมีไม่มาก ทางด้านมืดและสีเทาจึงเข้ามาแทนที่


งานวิจัยของ ผศ.เสริมศักดิ์ ขุนพล เรื่อง “การสื่อสารการตลาดแบบเซ็กซี่ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย” หยิบยกแนวคิดเพศวิถี (Sexuality) และการใช้เรื่องเพศทำการตลาด (Sexy Marketing) ทำให้คนๆ หนึ่งกลายเป็นวัตถุทางเพศ

 

ผศ.เสริมศักดิ์ ขุนพล (คนซ้าย, ภาพจากเฟซบุ๊ก : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ)

ผศ.เสริมศักดิ์ ขุนพล (คนซ้าย, ภาพจากเฟซบุ๊ก : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ)

ผศ.เสริมศักดิ์ ขุนพล (คนซ้าย, ภาพจากเฟซบุ๊ก : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ)

 

แนวคิดนี้อาจตอบข้อสงสัยได้ เพราะเมื่อใครมองอีกฝ่ายเป็นแค่วัตถุ ซื้อมาแล้วจะทำอะไรตามต้องการ หวังกอบโกยความสุขให้คุ้มกับเงินที่เสียไป แม้แต่งานสายขาวในสถานที่เปิด ก็ยังเสี่ยงทั้งถูกแอบถ่าย พูดจาแทะโลม แตะเนื้อต้องตัว หรือเอารัดเอาเปรียบ โกงเงินค่าตอบแทน ฯลฯ

หากมองกลับไปในมุมมืด ที่คนนอกซึ่งไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อหาบริการจะมองเห็น นั่นเท่ากับว่าชีวิตทั้งชีวิตอยู่บนความเสี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์ และตราบใดที่หลายคนยังไม่เคารพผู้อื่นเท่ากับตัวเอง ให้เกียรติว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน

การเสียชีวิตของพริตตี้สาวจากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของผลตรวจจากแพทย์ อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาเหตุการตาย แต่อาจมีฆาตกรที่ยังไม่ถูกเปิดเผยอยู่เบื้องหลังก็เป็นได้

 

จตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง