10 สัญญาณเตือน "โรคซึมเศร้า" สกัดก่อนเสี่ยงตาย

สังคม
26 ก.ย. 62
14:58
22,510
Logo Thai PBS
10 สัญญาณเตือน "โรคซึมเศร้า" สกัดก่อนเสี่ยงตาย
กรมสุขภาพจิต เผยข้อมูลคนไทยป่วยโรคซึมเศร้าเสี่ยงฆ่าตัวตาย น่าตกใจจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน แนะผู้ใกล้ชิดเช็ก 10 สัญญาณเสี่ยงเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

กรณีการเสียชีวิตของดาราหนุ่มชื่อดัง หนึ่งในสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้า จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โดยจะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 คน

ในปี 2561 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.11 เพิ่มขึ้นจากอัตรา 6.03 ในปี 2560 โดยเพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิงกว่า 4 เท่า ช่วงอายุที่มีจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดของ เพศชายอยู่ที่ 35-39 ปี ส่วนเพศหญิงจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 50-54 ปี

สาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ความรัก ปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด ข่าวการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งจะกระทบต่อจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด

แนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้จากบุคคลรอบข้าง ครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท คนใกล้ชิด ชุมชม และสังคม การดูแลจิตใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยซักถาม รับฟัง ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่กำลังมีปัญหาอย่างใส่ใจ ให้คลายจากความเศร้า ความกังวล เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้

โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเคยทำร้ายตนเองมาก่อน จะต้องคอยดูแลใกล้ชิด ช่วยเหลือประคับประคองจิตใจ หรือพาไปรับการรักษากับแพทย์ เช่นเดียวกับในรายที่มีความเครียดหรือมีอาการซึมเศร้า ซึ่งจะมีทั้งการใช้ยารักษา โดยต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง และการให้การปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมองก็จะช่วยได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ประโยคสุดท้าย ที่ไม่มีใครรู้ของ "เหม ภูมิภาฑิต" บอกสัญญาณเสี่ยง

10 สัญญาณเสี่ยงป้องกันฆ่าตัวตาย

สำหรับการสังเกตสัญญาณเตือนหรือสัญญาณผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 สัญญาณ ดังนี้

  • 1.ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย เป็นหนี้ สูญเสียคนรักกะทันหัน พิการจากอุบัติเหตุ
  • 2.ใช้สุราหรือยาเสพติด
  • 3.มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย
  • 4.แยกตัว ไม่พูดกับใคร
  • 5.นอนไม่หลับเป็นเวลานาน
  • 6.พูดด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง
  • 7. มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน เป็นสบายใจร่าเริงผิดปกติ
  • 8.พูดว่าอยากตาย หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่
  • 9.เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
  • 10.มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า เช่น พูดจาฝากฝังคนข้างหลัง จัดการทรัพย์สิน 

นอกจากนี้ยังอาจสังเกตสัญญาณเสี่ยงที่ 5 สัญญาณในโซเชียลที่สามารถเห็นเพื่อนหรือ คนใกล้ชิด โพสต์ข้อความทำนองนี้ให้ระมัดระวัง เช่น การสั่งเสีย เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน โพสต์หรือเขียน ทำนองว่า ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว เรื่องความเจ็บปวด ทรมาน โพสต์ความรู้สึกผิด หมดหวังในชีวิต และพสต์เป็นภาระผู้อื่น หรือรู้สึกไร้ค่า และหากพบผู้ที่มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่กล่าวมา ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย รับฟัง และให้ความช่วยเหลือ ส่วนผู้ที่มีปัญหาสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“แอดมินทูนหัวของบ่าว” เล่าเรื่องโรคซึมเศร้า ที่คนทั่วไปยังไม่รู้

แพทย์เตือน "รมควันฆ่าตัวตาย" ไม่ใช่วิธีที่ง่าย ตายทรมาน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง